ขอบเขตของเนื้อหา
1.การหมั้น
2.การสมรส
3.ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
4.ทรัพย์สินและหนี้สินระหว่างสามีภริยา
5.การสมรสที่เป็นโมฆะ
6.บิดามารดากับบุตร
7.สิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตร
8.บุตรบุญธรรม
9.ค่าอุปการะเลี้ยงดู
การหมั้น
เงือนไขของการหมั้น
1.ชายและหญิงคู่หมั้นต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ (ม.1435) ถ้าการหมั้นกระทำโดยฝ่าฝืนมาตรา 1435 ผลคือ การหมั้นตกเป็นโมฆะ (ม.1435 ว.2)
• การหมั้นที่ทำโดยฝ่าฝืนมาตรา 1435 แม้จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาตามมาตรา 1436 หรือภายหลังจากการหมั้นแล้ว ชายและหญิงจะมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์แล้วก็ตาม ผลก็ยังตกเป็นโมฆะ จะให้สัตยาบันก็ไม่ได้ เพราะขัดมาตรา 172 ซึ่งบัญญัติว่า โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้
• ชายหรือหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์จะขออนุญาตศาลทำการหมั้นไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ผิดกับการสมรส ซึ่งหากมีเหตุสมควร ตามมาตรา 1448 ให้อำนาจศาลที่จะอนุญาตให้ชายหรือหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ทำการสมรสได้
คำถาม ถ้าศาลอนุญาตให้ชายและหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ทำการสมรสกันแล้ว ต่อมาชายและหญิงขาดจากการสมรสกัน และประสงค์จะทำการหมั้นใหม่ในขณะที่ตนมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบริบูรณ์ จะทำได้ไหม ? คำตอบ คือ ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อมาตรา 1435
• การหมั้นที่เป็นโมฆะ หากมีการให้ของหมั้นหรือสินสอดแก่ฝ่ายหญิง ก็ถือว่า เป็นการกระทำอันปราศจากมูลหนี้อันจะอ้างกฎหมายได้ ฝ่ายชายจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาของหมั้นและสินสอดคืนได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้ ตามมาตรา 412 หรือมาตรา 413
2. ผู้เยาว์ทำการหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองด้วย (มาตรา 1436) ถ้าการหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าว การหมั้นนั้นตกเป็นโมฆียะ
• สำหรับกรณีที่บิดามารแยกกันอยู่โดยที่มิได้หย่าขาดจากกัน บิดาและมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่ ฉะนั้น หากผู้เยาว์จะทำการหมั้น ก็ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาทั้งสองคน
• ผู้เยาว์ที่บิดามารดาถึงแก่ความตายไปแล้วทั้งสองคน หากจะทำการหมั้นจะต้องมีการตั้งผู้ปกครองเสียก่อน เมื่อมีผู้ปกครองแล้วผู้เยาว์จึงมาขอความยินยอมจากผู้ปกครองให้ทำการหมั้น ผู้เยาว์เช่นว่านี้จะมาขออนุญาตต่อศาลให้ตนทำการหมั้นไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้
• ในกรณีที่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองผู้ซึ่งมีอำนาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ให้ทำการหมั้นไม่ไห้ความยินยอมโดยปราศจากเหตุผล ผู้เยาว์อาจใช้ทางแก้ในเรื่องของการขอถอนอำนาจปกครอง ตามมาตรา 1582 หรือมาตรา 1598/8 แล้วแต่กรณี
• การให้ความยินยอมในการหมั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ ฉะนั้น บิดามารดา ฯ อาจให้ความยินยอมโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง คือ ด้วยวาจา โดยลายลักษณ์อักษร หรือโดยกริยาท่าทางอันเป็นปริยาย ว่าให้ความยินยอมก็ได้
แบบของการหมั้น
การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งหมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น (มาตรา 1437) สัญญาหมั้นเป็นสัญญาพิเศษผิดกับสัญญาธรรมดา ฉะนั้น หากมีการหมั้นแต่ฝ่ายชายไม่มีของหมั้นมามอบให้หญิงแล้ว แม้จะมีการผิดสัญญาหมั้นก็จะฟ้องเรียกค่าทดแทนฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้
การหมั้นจะต้องอยู่ในบังคับตามหลักทั่วไปในเรื่องของการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมด้วย เช่น การทำสัญญาหมั้นเพราะถูกข่มขู่ สัญญาหมั้นดังกล่าวเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 หรือการหมั้นที่มีวัตถุประสงค์อันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาหมั้นนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ด้วย เช่น พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันมาทำการหมั้นกัน
นอกจากนี้สัญญาหมั้นจะใช้บังคับได้ก็แต่เฉพาะ กรณีที่ชายไปทำการหมั้นหญิงเท่านั้น หากมีหญิงไปทำการหมั้นชาย หรือหญิงกับหญิงหมั้นกัน หรือชายกับชายหมั้นกัน สัญญาหมั้นเช่นว่านี้เป็นโมฆะตามมาตรา 150 เช่นกัน
ของหมั้น
- ของหมั้นนั้น ฝ่ายชายจะต้องได้ส่งมอบหรือโอนให้หญิงไว้เป็นกรรมสิทธิ์ เพียงแต่สัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้เป็นของหมั้น ไม่ถือว่าเป็นการให้ทรัพย์เป็นของหมั้น หรือการที่ฝ่ายชายมอบของหมั้นส่วนหนึ่งให้แก่หญิง อีกส่วนหนึ่งจะนำมามอบให้ในวันหน้านั้น คงเป็นของหมั้นเฉพาะทรัพย์ส่วนที่มอบให้ ส่วนที่ยังไม่ได้มอบไม่เป็นของหมั้น ฉะนั้นเมื่อชายตายของหมั้นที่มอบให้หญิงไว้แล้ว ตกเป็นของหญิง แต่หญิงจะฟ้องเรียกส่วนที่ยังไม่ได้นำมามอบให้ไม่ได้
- หญิงคู่หมั้นมีกรรมสิทธิ์ในของหมั้นในอันที่จะใช้สอย ได้ดอกผลหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ตามใจชอบ แต่จะต้องรับผิดในการคืนของหมั้นให้ฝ่ายชายหากตนเองผิดสัญญาหมั้นไม่ยอมสมรสกับชาย หรือในกรณีที่มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิง เช่น หญิงไปเสียเนื้อเสียตัวให้ชายอื่น เช่นนี้ ชายคู่หมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และหญิงก็ต้องคืนของหมั้นให้แก่ชายตามมาตรา 1442
- แต่หากเหตุสำคัญนั้นเกิดแก่ชายคู่หมั้น เช่น ชายคู่หมั้นเกิดวิกลจริตและรักษาไม่หายหญิงก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ชายตามมาตรา 1443
- นอกจากนี้การให้ของหมั้นนั้นต้องเป็นการให้โดยมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ชายหญิงเพียงแต่ประกอบพิธีสมรส หาได้มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ การประกอบพิธีสมรสดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุดังกล่าว เงินและแหวนเพชรกับสร้อยคอทองคำที่ฝ่ายชายอ้างว่าได้มอบให้แก่ฝ่ายหญิง จึงหาได้ให้ในฐานะเป็นสินสอดและของหมั้นตามความหมายมาตรา1437 ไม่ ฝ่ายชายจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน (ฎ.3557/2524)
สรุป ลักษณะสำคัญของของหมั้นจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ
1. ต้องเป็นทรัพย์สิน (สิทธิเรียกร้อง ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาเป็นของหมั้นได้)
2. ต้องเป็นของที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิง
3. ต้องให้ไว้ในเวลาทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว
4. ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นและต้องให้ไว้ก่อนสมรส ถ้าให้เมื่อหลังสมรสแล้วทรัพย์นั้นไม่ใช่ของหมั้น
การรับผิดตามสัญญาหมั้น
เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย (มาตรา 1439)
สินสอด
เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (มาตรา 1437 ว.3)
ลักษณะของสินสอดมีอยู่ 3 ประการ คือ
1.ต้องเป็นทรัพย์สิน การตกลงจะให้สินสอดนั้นจะต้องตกลงให้กันก่อนสมรส แต่ทรัพย์สินที่เป็นสินสอดซึ่งตกลงจะให้นั้นจะมอบให้ฝ่ายหญิงก่อนสมรสหรือหลังสมรสก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมอบให้ขณะทำสัญญาว่าจะให้ ทั้งไม่จำเป็นต้องมอบสินสอดให้ขณะที่ทำการหมั้น ซึ่งต่างกับของหมั้นอันจะต้องให้กันในเวลาหมั้น
2.ต้องเป็นของฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองของหญิง บุคคลอื่นนอกจากนี้ไม่มีสิทธิเรียกหรือรับสินสอด เช่น หญิงบรรลุนิติภาวะแล้วและไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองรับหมั้นและตกลงจะสมรสกับชายด้วยตัวเอง แล้วเรียกเงิน 200,000 บาทเป็นสินสอด แม้ชายจะมอบเงินให้ตามคำเรียกร้องก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่ใช่สินสอด แต่เป็นการให้โดยเสน่หา
3. ให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ทรัพย์สินที่เป็นสินสอด เมื่อได้มอบไปแล้วย่อมตกเป็นกรรมสิทธิเด็ดขาดแก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองหญิงโดยทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีการสมรสกันก่อน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการให้โดยมีเจตนาที่ชายและหญิงจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้น การที่ชายมอบเงินให้แก่มารดาหญิงเพื่อขอขมาในการที่หญิงตามไปอยู่กินกับชาย โดยชายหญิงไม่มีเจตนาสมรสกันตามกฎหมายนั้น ไม่ใช้สินสอดหรือของหมั้น เมื่อต่อมาหญิงไม่ยอมอยู่กินกับชาย ชายจึงเรียกเงินคืนไม่ได้ (ฎ.125/2518)
สินสอดแม้จะเป็นการให้เพื่อเป็นของขวัญในการตอบแทนที่หญิงยอมสมรสและกรรมสิทธิ์ได้ตกไปยังผู้รับตั้งแต่เวลาส่งมอบแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายชายก็ยังมีสิทธิเรียกสินสอดคืนได้ใน 2 กรณี คือ
(1) ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น “เหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง” หมายถึง เหตุที่จะกระทบกระเทือนถึงการสมรสที่จะมีต่อไปในระหว่างชายและหญิงคู่หมั้น อันจะก่อความไม่สงบสุขในชีวิตสมรสที่จะมีต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นเหตุเดียวกับเหตุที่ทำให้ชายบอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 นั่นเอง เช่น หญิงคู่หมั้นไปร่วมประเวณีกับชายอื่น หรือหญิงคู่หมั้นขับรถยนต์โดยประมาทชนคนตาย ศาลพิพากษาให้จำคุก 4 ปี ทำให้ชายไม่อาจสมรสกับหญิงได้ เช่นนี้ฝ่ายชายมีสิทธิเรียกสินสอดคืนโดยการบอกเลิกสัญญาหมั้นได้
(2) ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น “พฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ” หมายถึง พฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิด ทำให้การสมรสนั้นไม่อาจมีขึ้น หรือกรณีที่ไม่มีการสมรส เนื่องมาจากความผิดของฝ่ายหญิง ซึ่งคำว่า “ฝ่ายหญิง” มีความหมายกว้าง รวมทั้งบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาของหญิงคู่หมั้นด้วย เช่น หญิงคู่หมั้นทิ้งชายไปอยู่ต่างประเทศแล้วไม่ติดต่อกับมาเลย หรือหญิงประกอบพิธีแต่งงานอยู่กินด้วยกันแล้วไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยกับชาย เป็นความผิดของฝ่ายหญิง หญิงต้องคืนของหมั้นสินสอดให้ชาย แต่หากชายหญิงสมรสกันโดยตั้งใจไม่จดทะเบียนสมรสแล้วหรือเป็นความผิดของชายที่ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับหญิงหรือเพราะทั้งชายและหญิงละเลยไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรส ดังนี้ ชายจะฟ้องเรียกค่าสินสอดคืนไม่ได้
สำหรับกรณีที่ไม่มีการสมรสอันเนื้องมาจากการที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นถึงแก่ความตายก่อนจดทะเบียนสมรสกันนั้นมีบทบัญญัติมาตรา 1441 ไว้ชัดเจนว่า กรณีฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกสินสอดคืน
วิธีการคืนของหมั้นหรือสินสอด
1. ถ้าของหมั้นหรือสินสอดนั้นเป็นเงินตรา ฝ่ายหญิงมีหน้าที่ต้องคืนเงินเพียงส่วนที่มีอยู่ในขณะเรียกคืน เพราะโดยทั่วไปแล้วฝ่ายหญิงมักจะรับเงินที่เป็นของหมั้นหรือสินสอดนั้นไว้โดยสุจริตเสมอ อย่างไรก็ดี ถ้าฝ่ายหญิงนำเงินของหมั้นหรือสินสอดไปซื้อทรัพย์สินอื่นมา ทรัพย์สินอื่นที่ได้มานี้ต้องคืนให้ฝ่ายชายไปด้วย เพราะเป็นการช่วงทรัพย์ตามมาตรา 226 หรือในกรณีที่หญิงได้นำเงินตรานี้ไปลงทุนทำประโยชน์หรือได้ดอกเบี้ยเพิ่มพูนขึ้นมาก็ไม่ต้องคืนด้วย เพราะดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่ได้มานี้ย่อมเป็นของฝ่ายหญิงนั้นเอง
2. ถ้าของหมั้นหรือสินสอดนั้นเป็นทรัพย์สินอื่นที่มิใช่เงินตรา ฝ่ายหญิงมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินนั้นในสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาที่เรียกคืน ฝ่ายหญิงไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเนื่องมาจากความผิดของตนก็ตาม แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบบสลายเช่นนั้นก็ต้องคืนให้ไปด้วย สำหรับในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นมีราคาเพิ่มขึ้น เพราะการที่ฝ่ายหญิงได้ออกเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมทรัพย์สิน ฝ่ายหญิงก็มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายนั้นจากฝ่ายชายด้วย แต่ถ้าหากเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมทรัพย์สินตามปกติธรรมดาแล้วจะเรียกให้ชดใช้ไม่ได้
การผิดสัญญาหมั้นและค่าทดแทน
1.การหมั้นไม่เป็นเหตุฟ้องร้องบังคับให้สมรสได้ (มาตรา 1438) ถ้ามีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
2.เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้น จะต้องมีความรับผิดชดใช้ค่าทดแทนแก่กัน การเรียกค่าทดแทนเนื่องจากการผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามมาตรา 1439 ให้เรียกได้เฉพาะกรณีที่มีการหมั้นเท่านั้น ฉะนั้น หากชายและหญิงตกลงกันว่าจะทำการสมรสหรือจดทะเบียนสมรสกันโดยไม่มีการหมั้นแล้ว แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง อีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าทดแทนไม่ได้
ค่าทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้นมีเฉพาะตามที่กฎหมายมาตรา 1440 กำหนดไว้ เพียง 3 กรณีเท่านั้น คือ
(1) ค่าทดแทนความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น เช่น หญิงคู่หมั้นไม่ยอมสมรสกับชายคู่หมั้น ชายคู่หมั้นอาจได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนฝูง ซึ่งหญิงคู่หมั้นจะต้องใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อชื่อเสียนี้ให้แก่ชาย แต่สำหรับความเสียหายทางจิตใจที่คู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับเนื่องจากการผิดสัญญาหมั้นนั้น ไม่ใช่ความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงตามความหมายในมาตรา 1440 (1) จึงเรียกค่าทดแทนกันไม่ได้
(2) ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่าย หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร หมายถึง ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่ชายหญิงต้องกระทำเพื่อเตรียมการที่ชายหญิงจะอยู่กินด้วยกันเป็นสามีภริยากันโดยตรง เช่น ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่จะเป็นที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากจังหวัดที่ตนอยู่มาจังหวัดที่จำทำการสมรส หรือชายหญิงหมั้นกันกำหนดวันสมรสแน่นอนแล้ว ฝ่ายหญิงจึงได้ใช้จ่ายในการซื้อที่นอนหมอนมุ้งหรือเครื่องเรือนสำหรับเรือนหอ แต่ชายผิดสัญญาหมั้นไม่มาทำการสมรส ฝ่ายหญิงเรียกค่าทดแทนได้ เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในข้อนี้กฎหมายจำกัดเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร ไม่ได้ขยายไปถึงค่าใช้จ่ายในการหมั้นด้วย ฉะนั้นค่าหมากพลูและขนมที่บรรจุในขันหมากหมั้น ค่าพาหนะและค่าเลี้ยงแขกในวันหมั้นเหล่านี้ ไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพ หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เช่น หญิงเลิกทำการค้าขายหรือขายที่ดินทรัพย์สินของตนในกรุงเทพโดยขาดทุน เพื่อเตรียมจะสมรสกับชายที่อยู่ต่างจังหวัด หรือหญิงประกอบอาชีพเป็นทันตแพทย์ได้เลิกทำอาชีพนี้เพื่อไปทำการสมรส หรือชายสละสิทธิได้รับเรียกให้เข้ารับราชการหรือลาออกจากราชการเพื่อเตรียมจะสมรสกับหญิงที่อยู่ต่างประเทศเหล่านี้ หญิงหรือชายคู่หมั้นที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวก็ชอบที่จะเรียกค่าทดแทนความเสียหายเช่นว่านี้ได้
ถ้าชายผิดสัญญาหมั้น หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น แต่หากหญิงผิดสัญญาหมั้น หญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย (มาตรา 1339 + มาตรา 1440 วรรคท้าย)
การระงับสิ้นไปแห่งสัญญาหมั้น และค่าทดแทน
การหมั้นระหว่างชายและหญิงอาจสิ้นสุดลงด้วยเหตุ 3 ประการ คือ
(1) คู่สัญญาหมั้นทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมเลิกสัญญา จะตกลงด้วยวาจาก็ได้ เมื่อเลิกสัญญาหมั้นกันแล้ว ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แกฝ่ายชาย และคู่สัญญาจะเรียกค่าทดแทนอะไรจากกันไม่ได้
(2) ชายคู่หมั้นหรือหญิงคู่หมั้นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1441 กรณีการตายนี้มิใช่เป็นการผิดสัญญาหมั้น คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกเอาค่าทดแทนจากกันไม่ได้ แม้ความตายนั้นจะเกิดจากความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น หญิงเบื่อชายคู่หมั้น จึงฆ่าตัวตายเพื่อจะไม่ต้องสมรสกับชายคู่หมั้น หรือหญิงคู่หมั้นหรือบิดามารดาของหญิงคู่หมั้นจงใจฆ่าชายคู่หมั้นเพื่อที่จะไม่ต้องให้มีการสมรสเกิดขึ้นก็ดี ในสองกรณีเช่นว่านี้ ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ฝ่ายชายเช่นเดียวกัน
(3) การเลิกสัญญาหมั้นโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาหมั้นเนื่องจากมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น หรือชายคู่หมั้น
(3.1)ชายบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ตามมาตรา 1442 ให้สิทธิชายที่จะบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และหญิงคู่หมั้นก็จะต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่ชายด้วย เช่น หญิงคู่หมั้นเกิดวิกลจริต ยินยอมให้ชายอื่นร่วมประเวณีในระหว่างการหมั้น หน้าถูกน้ำร้อนลวกจนเสียโฉม ได้รับอันตรายสาหัสจนต้องถูกตัดแขนทั้งสองข้าง หรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น แต่การที่หญิงไม่ยอมให้ชายคู่หมั้นร่วมประเวณีด้วย ชายจะถือเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นไม่ได้ เพราะหญิงยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องอยู่กินฉันสามีกับชาย
(3.2) หญิงบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ตามมาตรา 1443 ให้สิทธิแก่หญิงคู่หมั้นที่จะบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่ชาย เช่น ชายไร้สมรรถภาพทางเพศ เป็นคนวิกลจริต เป็นคนพิการ เป็นนักโทษและกำลังรับโทษจำคุกอยู่ ฯลฯ แต่สำหรับกรณีที่ชายไปร่วมประเวณีกับหญิงอื่น ตามธรรมเนียมประเพณีของไทยไม่ถือว่าเป็นเรื่องชั่วช้าน่าละอาย จึงไม่ถือว่าเป็นเหตุที่หญิงจะไม่ยอมทำการสมรส แต่ถ้าชายไปเป็นชู้กับภริยาคนอื่นหรือไปข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่น ถือกันว่าเป็นสิ่งที่น่าละอาย หญิงคู่หมั้นมีสิทธิไม่ยอมสมรสด้วยได้ อย่างไรก็ดีแม้เหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของหญิงคู่หมั้นเอง เช่น หญิงคู่หมั้นขับรถยนต์ไปกับชายคู่หมั้น แต่ขับรถด้วยความประมาทอย่างร้ายแรง รถยนต์คว่ำชายคู่หมั้นตาบอดทั้งสองข้าง หญิงคู่หมั้นก็ยังมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นกับชายคู่หมั้นที่พิการได้
ค่าทดแทนในการเลิกสัญญาหมั้น
1. ค่าทดแทนที่คู่หมั้นเรียกจากกันในกรณีบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้น ตามมาตรา 1444 การกระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้น จะต้องเกิดขึ้นภายหลังการหมั้นแล้ว
2. ค่าทดแทนจากชายอื่นที่ล่วงเกินหญิงคู่หมั้นทางประเวณี ตามมาตรา 1445 และมาตรา 1446 แบ่งออกเป็น
2.1 การที่ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น โดยหญิงคู่หมั้นยินยอมมี หลัก คือ (ม.1445)
(1) ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น
(2) ชายอื่นนั้นรู้หรือควรรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่
หมั้นแล้วและรู้ด้วยว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
(3) ชายคู่หมั้นได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว
2.2 การที่ชายอื่นข่มขืนหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงคู่หมั้น มีหลัก คือ (ม.1446)
(1) ชายอื่นจะต้องรู้ว่าหญิงมีคู่หมั้นแล้ว แต่ไม่จำเป็น
ต้องรู้ว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
(2) ชายคู่หมั้นไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นก่อน
ข้อสังเกต หญิงคู่หมั้นไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาล่วงเกินชายคู่หมั้นทางประเวณี จะนำมาตรา 1445 และมาตรา 1446 มาอนุโลมใช้บังคับไม่ได้
การสมรส
1. คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชายและอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหญิง (ม.1448)
2. การสมรสจะต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายและหญิงไม่สมัครใจในการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
3. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต การที่ชายและหญิงทำการสมรสกันโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาใดเวลาหนึ่งแล้วให้การสมรสสิ้นสุดลง ข้อตกลงเช่นนี้ขัดต่อความสงบฯ ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 (แต่การสมรสยังสมบูรณ์)
4. การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว
เงือนไขแห่งการสมรส
1. ชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้วทั้งสองคน (มาตรา 1448)
หากชายหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขไปทำการสมรสโดยที่อายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ การสมรสนั้นเป็นโมฆียะตามมาตรา 1503 ผู้มีส่วนได้เสีย คือ บิดามารดาและตัวชายหญิงนั้นเองมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลขอให้พิพากษาเพิกถอนการสมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1504 หากมิได้เพิกถอนการสมรส จนชายหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือหญิงเกิดมีครรภ์ขึ้นมาก่อนหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ กฎหมายถือว่าการสมรสที่เป็นโมฆียะนั้นสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส จะขอให้ศาลเพิกถอนอีกไม่ได้
2. ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 1449 ถ้าฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495
3. ชายและหญิงมิได้เป็นญาติสืบสายโลหิตต่อกันหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดา หรือมารดา ตามมาตรา 1450 ถ้าฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา1495
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ ตามมาตรา1451แต่กฎหมายมิได้บัญญัติให้การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อนี้เป็นโมฆะหรือโมฆียะ เนื่องจากผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมไม่มีความสัมพันธ์ในทางสายโลหิตกันเลย และมีมาตรา 1598/32 บัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451 จึงทำให้การสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ทุกประการ
5. ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่ ตามมาตรา 1452 การสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิกล่าวอ้างว่าการสมรสซ้อนนั้นเป็นโมฆะ หรือจะนำคดีมาสู่ศาลเพื่อขอให้มีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสซ้อนนั้นเป็นโมฆะก็ได้ เมื่อมีการกล่าวอ้างหรือเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วการสมรสซ้อนครั้งหลังนี้ย่อมเสียเปล่ามาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ถ้ายังไม่มีการกล่าวอ้างหรือคำพิพากษาดังกล่าว ก็ต้องถือว่าชายหญิงในการสมรสครั้งหลังนั้นยงคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย การสมรสซ้อนนี้แม้ชายหรือหญิงคู่สมรสจะกระทำการสมรสโดยสุจริตไม่ทราบว่ามีการสมรสเดิมอยู่แล้วก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ ยังคงเป็นโมฆะอยู่นั้นเอง แต่คู่สมรสผู้ทำการโดยสุจริตไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นก่อนที่ตนจะรู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ
ในกรณีที่ชายหรือหญิงมีคู่สมรสอยู่แล้วแต่การสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือเป็นโมฆียะ ชายหรือหญิงเช่นว่านี้ไม่อาจสมรสใหม่ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆะเสียก่อน ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1496 และมาตรา 1497 ส่วนการสมรสที่เป็นโมฆียะเป็นการสมสรที่สมบูรณ์จนกว่าจะถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนตามมาตรา 1502 ก่อนศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ถือว่าเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย
ตัวอย่าง นายเขียวข่มขู่นางขาวให้สมรสกับตน การสมรสนี้เป็นโมฆียะ แต่นางขาวก็ไม่มีสิทธิทำการสมรสใหม่ จนกว่าจะขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสระหว่างตนกับนายเขียวเสียก่อน หากขืนสมรสใหม่ การสมรสใหม่นี้เป็นการสมรสซ้อนอันเป็นโมฆะ
6. ชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน ตามมาตรา 1458 สำหรับการที่ชายหลอกลวงหญิงมาจดทะเบียนสมรสเป็นภริยาโดยรับรองว่าจะเลี้ยงดูให้สุขสบาย แต่ภายหลังกลับทิ้งขวาง เช่นนี้ จะถือว่าหญิงมิได้ยินยอมไม่ได้ การสมรสดังกล่าวสมบูรณ์ทุกประการ อย่างไรก็ดีการที่ชายหญิงทำการสมรสกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายสำคัญผิด หรือชายให้หญิงเสพย์ยาเสพติดจนเมามายไม่ได้สติแล้วพาไปจดทะเบียนสมรส เช่นนี้ ถือไม่ได้ว่ามีการยินยอมเป็นสามีภริยากัน การสมรสดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม การที่ชายหญิงทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะไปจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอนั้นไม่เป็นการผิดกฎหมายและไม่เป็นโมฆะ เพราะคู่กรณีอาจไปจดทะเบียนสมรสได้ตามที่ยอมความกัน
7. หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อขาดจากการสมรสเดิมแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน แต่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 1453
8. ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามมาตรา 1454 เมื่อให้ความยินยอมมาถูกต้องตามแบบวิธีการตามมาตรา 1455 แล้วจะถอนความยินยอมนั้นไม่ได้ เพราะเมื่อให้ความยินยอมถูกต้องตามกฎหมายแล้วนายทะเบียนย่อมต้องจดทะเบียนสมรสให้ นอกจากนี้แม้จะยังมิได้มีการจดทะเบียนสมรสก็ตาม บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์ทำการสมรสแล้วจะเปลี่ยนใจไม่ยอมให้ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยจะถอนความยินยอมนั้นไม่ได้ เพราะมาตรา 1455 วรรคท้าย บัญญัติห้ามไว้เด็ดขาดไม่ยอมให้มีการถอนความยินยอมนี้
ในกรณีที่บิดามารดาทำหนังสือแสดงความยินยอมไว้แล้ว แต่บิดาถึงแก่ความตายไปก่อนที่ผู้เยาว์จะไปจดทะเบียนสมรส คงเหลือมารดาเพียงผู้เดียว เช่นนี้ ผู้เยาว์ก็ยังสามารถไปจดทะเบียนสมรสโดยใช้หนังสือแสดงความยินยอมเช่นว่านั้นได้ เพราะมาดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงในขณะจดทะเบียน
แต่ถ้าบิดาและมารดาถึงแก่ความตายทั้งสองคน หนังสือแสดงความยินยอมดังกล่าวย่อมสิ้นผล ผู้เยาว์ต้องมาขอความยินยอมใหม่จากผู้ปกครองหรือขออนุญาตศาลให้ทำการสมรส ตามมาตรา 1456
หากผู้เยาว์ฝ่าฝืนเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องความยินยอมของผู้ใช้อำนาจปกครองไปทำการสมรสโดยมิได้รับความยินยอมดังกล่าว การสมรสนั้นเป็นโมฆียะตามมาตรา 1509 แต่เฉพาะบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้มีสิทธิให้ความยินยอมเท่านั้นจึงจะมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้ได้ ตัวชายหรือหญิงคู่สมรสเองไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรส เพราะตนเองมีคุณสมบัติที่จะทำการสมรสได้อยู่แล้ว
ระวัง สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อชายหญิงคู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์แล้ว และการฟ้องขอเพิกถอนการสมรสในกรณีที่ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมนี้มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันทราบการสมรส ตามมาตร 1510
แบบแห่งการสมรส
การสมรสจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น ตามมาตรา 1457
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
1. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา อย่างไรก็ดีการที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่ยอมอยู่กินด้วยกันกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าจะฟ้องร้องบังคับกันได้หรือไม่ แต่น่าจะฟ้องร้องไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะภายในครอบครัว เช่น ภริยาไม่ยอมอยู่กินด้วยกันกับสามีโดยแยกไปอยู่กับญาติ สามีจะให้สมัครพรรคพวกไปบังคับนำตัวภริยากลับมาอยู่บ้านกับตน โดยอ้างว่าเพื่อบังคับตามสิทธิในการอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาไม่ได้ แต่ในกรณีดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่างๆ เช่น
ประการที่ 1 หากสามีข่มขืนกระทำชำเราภริยา ภริยาจะฟ้องคดีความผิดฐานข่มขืนไม่ได้
ประการที่ 2 การที่ภริยาปฏิเสธไม่ยอมให้สามีร่วมประเวณีด้วยอาจเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) และ
ประการที่ 3 ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดยจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี ก็เป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4)
2. การช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน หากสามีภริยาไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามสาควร อีกฝ่ายหนึ่งย่อมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 หรือหากประสงค์จะหย่าขาดจากกันก็อาจฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้จะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 1598/41
3. การแยกกันอยู่ต่างหากชั่วคราว
3.1 สามีภริยาอาจทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้ ข้อตกลงเช่นว่านี้ใช้บังคับได้ เมื่อสามีภริยาทำข้อตกลงแยกกันอยู่ต่างหากจากกันแล้วสามีภริยาต่างฝ่ายต่างหมดหน้าที่ที่จะต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป แต่สถานะความเป็นสามีภริยายังคงมีอยู่ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง สามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจึงจะทำการสมรสใหม่ไม่ได้ ผลของข้อตกลงนี้มีเพียงทำให้การแยกกันอยู่นี้แม้จะเป็นเวลาเกิน 1 ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นการจงใจละทิ้งร้าง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงจะมาอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (4) ไม่ได้ แต่ถ้าหากการตกลงแยกกันอยู่นี้ เป้นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขและสามีภริยาได้แยกกันอยู่แล้วเป็นเวลาเกิน 3 ปี สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (4/2)
3.2 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 1462
(1) การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายอย่างมากของสามีหรือภริยา เช่น สามีเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น
(2) การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่จิตใจอย่างมากของสามีหรือภริยา เช่น สามีชอบพาพาร์ทเนอร์มานอนบ้านเป็นประจำ เป็นการทำลายจิตใจของภริยาอย่างมาก เป็นต้น
(3) การอยู่ร่วมกันจะเป็นการทำลายความผาสุขอย่างมากของสามีหรือภริยา เช่น สามีเป็นคนวิกลจริตมีอาการดุร้ายเป็นที่หวาดกลัวแก่ภริยา แต่เนื่องจากยังไม่ครบกำหนด 3 ปี จึงฟ้องหย่าไม่ได้ ภริยาก็อาจมาร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากจากสามีเป็นการชั่วคราวได้
3.3 การสิ้นสุดของการแยกกันอยู่
(1) สามีภริยาตกลงกันยกเลิกการแยกกันอยู่
(2) สามีภริยาหย่าขาดจากกัน
(3) สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย
ทรัพย์สินและหนี้สินระหว่างสามีภริยา
สัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สิน
1. การทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สิน คู่สมรสอาจจะกระทำได้โดยการจดแจ้งสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับจดทะเบียนสมรส หรือจะทำเป็นหนังสือลงลานมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรสพร้อมทั้งจดไว้ในทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ก็ได้ ถ้าไม่ทำตามแบบที่กำหนดนี้สัญญานั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1466
การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาในสัญญาก่อนสมรส เมื่อสมรสแล้วจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล
2. สัญญาระหว่างสมรสในเรื่องทรัพย์สิน กฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้เป็นพิเศษ ไม่เหมือนกับสัญญาก่อนสมรสที่จะต้องมีการจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้เพราะสัญญาระหว่างสมรสอาจเป็นเอกเทศสัญญาซึ่งไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยก็ได้ แต่อย่างไรก็ดีมาตรา 1437/1 ห้ามมิให้ทำสัญญาระหว่างสมรสในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสินสมรสที่สำคัญที่สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน เช่น สามีและภริยาจะทำสัญญาระหว่างสมรสให้ภริยามีอำนาจจำนองที่ดินสินสมรสแต่ผู้เดียว อันเป็นการผิดแผกแตกต่างจากมาตรา 1476 ที่กำหนดไว้ให้สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกันนั้นไม่ได้ สัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้
ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
1. สินส่วนตัว ตามมาตรา 1471 ได้แก่ทรัพย์สิน
1.1 ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ทรัพย์สินเช่นว่านี้จะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยกรรมสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายนั้นแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของคู่สมรสฝ่ายใด แม้จะอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องได้กรรมสิทธิ์มาในภายหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส เช่น ชายทำสัญญาจะซื้อที่ดินวางมัดจำไว้ เมื่อสมรสแล้วจึงรับโอนทะเบียนมา กรณีเช่นนี้จะถือว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินที่ชายมีอยู่แล้วก่อนสมรสไม่ได้ (ฏ.480/2498)
1.2 ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
1.3 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา ทรัพย์สินเหล่านี้ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาผู้ที่ได้รับมาทั้งสิ้น ไม่ถือว่าเป็นสินสมรส ทั้งๆ ที่ได้มาระหว่างสมรส
1.4 ในกรณีที่สามีหรือภริยาได้รับรางวัลจากการกระทำสิ่งใดหรือจากการประกวดชิงรางวัล รางวัลที่ได้รับมานั้นเป็นสินส่วนตัว
1.5 ทรัพย์ที่เป็นของหมั้น เป็นสินส่วนตัวของภริยา
1.6 ของแทนสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวนั้นถ้าได้มีการแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาด้วยเงินสินส่วนตัวก็ดี หรือขายสินส่วนตัวได้เงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นยงคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ตามเดิม เพราะเป็นไปตามหลักในเรื่องช่วงทรัพย์ ตามมาตรา 226 วรรคสอง หรือสินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวเช่นเดียวกัน
1.7 การจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ ตามมาตรา 1473
2. สินสมรส ตามมาตรา 1474 มีอยู่ 3 ชนิดคือ
2.1 ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้นั้นหรือไม่ นอกจากนี้การที่สามีภริยาแยกกันอยู่หรือทิ้งร้างกันโดยไม่ได้หย่าขาดจากกันโดยเด็ดขาด ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ในระหว่างนั้นก็ถือว่าเป็นสินสมรสด้วย
• เงินบำเหน็จ บำนาญ เบี้ยหวัด ค่าชอเชยในการออกจากงานหรือการเลิกจ้างหรือผลประโยชน์ตอบแทนในการเกษียณอายุจากการทำงาน ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส มิใช้เป็นการได้มาโดยการให้โดยเสน่หา แต่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานที่ผ่านมาของข้าราชการหรือลูกจ้าง เงินเหง่านี้จึงเป็นสินสมรส
• สำหรับทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าถือเอา หรือโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ก็ถือว่าเป็นสินสมรส หรือแม้กระทั่งทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดทางอาญาก็ถือว่าว่าเป็นสินสมรสเช่นเดียวกัน
• ถ้าสินสมรสนั้นเป็นทรัพย์ที่เป็นประธานแล้วต่อมามีทรัพย์อื่นประกอบเป็นส่วนควบ ส่วนควบนั้นก็ย่อมกลายเป็นสินสมรสไปด้วย
• สำหรับดอกผลของสินสมรสก็ย่อมเป็นสินสมรสเช่นเดียวกัน
2.2 ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือ ทรัพย์สินเช่นว่านี้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นตามมาตรา 1471 (3) แต่หากเจ้ามรดกหรือผู้ให้ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจึงจะเป็นสินสมรส
2.3 ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว กฎหมายในเรื่องครอบครัวได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า ดอกผลของสินส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นดอกผลธรรมดาหรือดอกผลนิตินัยให้เป็นสินสมรส ทั้งนี้ เพราะถือว่าดอกผลเหล่านี้ได้มาระหว่างสมรส เช่น ก่อนสมรสสามีมีเงินฝากประจำอยู่ในธนาคาร 100,000 บาท หลังจากสมรสแล้วธนาคารคิดดอกเบี้ยให้ 8,000 บาท เงิน 8,000 บาทนี้เป็นสินสมรส
การจัดการสินสมรส
(1) หลัก สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสได้โดยลำพัง เว้นแต่การจัดการที่สำคัญจึงจะต้องจัดการร่วมกัน ตามมาตรา 1476
(2) สามีภริยาเพียงคนเดียวมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินสมรส ตามมาตรา 1477
(3) ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไห้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสที่สำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตแทนความยินยอมได้ ตามมาตรา 1478
(4) ถ้าสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสที่สำคัญไปโดยลำพัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้ยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตามมาตรา 1480 แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวอาจจะเป็นที่เสียหายแก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้นมาตรา 1480 จึงได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งการเพิกถอนนิติกรรมนั้นจะไปกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกดังกล่าวนั้นไม่ได้
มาตรา 1480 วรรคท้าย กำหนดให้คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมนั้นจะต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่รู้ว่าได้มีการทำนิติกรรมหรืออย่างช้าภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรม
(5) สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ ตามมาตรา 1481
(6) สามีหรือภริยาโดยลำพังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวได้เสมอ ตามมาตรา 1482
(7) สามีหรือภริยาอาจขอให้ศาลสั่งห้ามคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมิให้จัดการสินสมรสอันจะก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดได้ ตามมาตรา 1483
(8) ถ้ามีเหตุจำเป็น สามีหรือภริยาอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือขอให้แยกสินสมรสได้ ตามมาตรา 1484
ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง (ฎ.516/2508)
ความรับผิดในหนี้สินของสามีภริยา
1.หนี้ที่มีมาก่อนสมรส คงเป็นหนี้ที่ฝ่ายนั้นจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว แม้จะเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นหนี้ระหว่างกันเองมาก่อนสมรสก็ตาม ก็ยังคงเป็นลูกหนี้กันอยู่ดังที่กล่าวมาแล้ว
2. หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรสอาจจะเป็นหนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นหนี้ร่วมที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันก็ได้แล้วแต่กรณี ซึ่งโดยหลักแล้วคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดหนี้ หนี้ที่เกิดขึ้นก็เป็นหนี้ของฝ่ายนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นว่าเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 เช่น สามีกู้เงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ ก็เป็นหนี้ส่วนตัวของสามีแต่ถ้ากู้เงินมาเพื่อให้การศึกษาแก่บุตร จึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีและภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน เป็นต้น
หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา
ตามมาตรา 1490 หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน มีอยู่ 4 ชนิด
1. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอกถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส เช่น หนี้เกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เป็นสินสมรส เป็นต้น
3. หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
4. หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน คู่สมรสจะให้สัตยาบันด้วยวาจาก็ได้
การเอาทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไปชำระหนี้
1. หนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยา ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น ตามมาตรา 1488
2. หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1489
การสมรสที่เป็นโมฆะ
เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ
1. การสมรสที่ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามรถ (ม.1449+ม.1495)
2.การสมรสที่ชายหรือหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงต่อกันหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา (ม.1450+ม.1495)
3. การสมรสซ้อน (ม.1452+ม.1495)
4. การสมรสที่ชายหญิงไม่ยอมเป็นสามีภริยากัน (ม.1458+ม.1495)
คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา1458 เป็นโมฆะ (ตามมาตรา 1496)
ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ
1. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ตามมาตรา 1498
2. การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ทำให้คู่สมรสที่สุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสและยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนอีกด้วย ตามมาตรา 1499
3.การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ตามมาตรา 1500
4. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1536 มาตรา 1538 และมาตรา 1499/1
การสิ้นสุดแห่งการสมรส
1. การสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย ความตายในที่นี้ หมายความถึง ความตายตามธรรมชาติ ไม่ได้หมายความถึงความตายโดยผลของกฎหมาย หรือการสาบสูญซึ่งเป็นเพียงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (5)
2.การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน
เหตุที่ทำให้หารสมรสเป็นโมฆียะ
1.การสมรสที่ชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ (ม.1448+ม.1504)
2.การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรส (ม.1505)
3.การสมรสโดยถูกกลฉ้อฉล (ม.1506)
4.การสมรสโดยถูกข่มขู่ (ม.1507)
5.การสมรสของผู้เยาว์ที่มิได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง (ม.1509+1510)
ผลของการเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ
1.การสมรสที่เป็นโมฆียะย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอน (ม. 1511)
2.ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และกำหนดการปกครองบุตรเช่นเดียวกับการหย่าโดยคำพิพากษา (ม.1512)
3.มีการชดใช้ค่าเสียและค่าเลี้ยงชีพ (ม.1513)
การหย่า
1.การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย มีหลักดังนี้
1.1 ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน และ (ม.1514)
1.2 การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการหย่า(ม.1515)
2.การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล โดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516
ดีจังเลยครับ ได้ความรู้มากขึ้น ช่วยหากฏหมายตัวอื่นมาเพิ่มอีกเยอะๆเลยนะครับ รอติดตามอ่านอยู่นะครับ
ตอบลบวันที่ 7 ต.ค. 2553 ผมสอบวิชานี้พอดีเลย อ่านสรุปนี่ทีเดียว เข้าใจท่องแท้ เหลือท่องมาตราไปสอบแค่นั้นล่ะ อิอิ ขอบคุณครับ
ตอบลบขอบคุณค่ะ
ตอบลบขอบคุณมากเลยครับ
ตอบลบอ่านแล้ว...แจ่มเลยครับ
ตอบลบสื้อบ้านโดยการยินยอมจากลูกและบิดา แต่มารดาไม่ยอมใดหรือไม่
ตอบลบถ้า สามมี ไป หลับ นอน กับหญิง อื่น ที่ ไม่ ใช่ เรา เกิด ตั้งครร จะทำ อย่างไร
ตอบลบได้ความรู้มากเลยคะ ขอบคุณมาก มีข้อซักถามอีกคะ คือ
ตอบลบ1. ถ้าผู้หญิงไปทำสัญญาซื้อบ้านและที่ดินก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรส ในสัญญาซื้อบ้านที่ดินเป็นชื่อผู้หญิงคนเดียว โดยผ่อนดาวน์คนเดียว หลังจากผ่อนดาวน์เสร็จนำเข้าแบ้งค์ และผู้หญิงได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ชาย ที่คบกันมาหลายปี อยู่กินกันก่อนจดทะเบียนเพื่อกู้ร่วม ทรัพย์ตัวนี้จะเป็นสินสมรสมัยคะ
2. สามีได้หยาขาดจากภรรยาเก่าและมาจดทะเบียนกับผู้หญิง ในข้อ 1 และมีลูก 2 คน ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ทรัพย์ที่ผู้หญิงข้อ 1 หามาก่อนจะจดทะเบียน จะต้องแบ่งให้ลูกของผู้ชายหรือไม่
ขอบคุณคะ
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบขอบคุณมากเลยค่ะ....สำหรับความรู้ใหม่
ตอบลบขอบคุณครับ.
ตอบลบ