วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

สรุป วิชาครอบครัว

กฎหมายครอบครัวที่ศึกษาในชั้นเนติบัณฑิต ลักษณะข้อสอบจะเป็นปัญหาตุ๊กตาให้วินิจฉัยโดยคำถามกฎหมายครอบครัวจะผสมกับกฎหมายมรดกในข้อเดียวกัน หรือจะเป็นคำถามกฎหมายครอบครัวอย่างเดียว หรือกฎหมายมรดกแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้
การหมั้น มีมาตราที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ (1435-1447) สาระสำคัญของการหมั้นมีดังต่อไปนี้
1. ชายและหญิงจะทำการหมั้นได้ต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ( ม. 1435 ) หากการหมั้นกระทำโดยฝ่าฝืน ม. 1435 ผลคือการหมั้นตกเป็นโมฆะ ( ม. 1435 ว. 2 )
2. ผู้เยาว์ทำการหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองด้วย ( ม. 1436 ) หากการหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวการหมั้นนั้นตกเป็นโมฆียะ
ข้อสังเกต
1. ผู้เยาว์มีสิทธิที่จะบอกล้างการหมั้นนั้นได้ตาม ม. 175 (1 ) ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อบอกล้างก็ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก
2. ผู้เยาว์อาจให้สัตยาบันในการหมั้นนั้นได้เมื่อตนบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ม. 177
กรณีผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสตาม ม. 20 โดยทำการสมรสก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ด้วยการขออนุญาตศาลให้ทำการสมรสตาม ม. 1448
หากต่อมาได้ขาดจากการสมรสและอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ แม้ตนเองจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม หากจะทำการหมั้นใหม่อีกครั้งก็อยู่ในเงื่อนไขของการหมั้นและจะต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ด้วย หากฝ่าฝืนการหมั้นเป็นโมฆะ
ฎ. 3072 / 2547 (ญ.)
วินิจฉัยหลักกฎหมายเรื่อง โมฆะกรรม ( ม. 172 ) , ลาภมิควรได้ ชำระหนี้ตามอำเภอใจ(ม. 407 )
คืนเงิน ( ม. 412 ) , คืนทรัพย์ ( ม. 413 ) , หมั้น ( ม. 1435 )
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว ข. นางสาว ข. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืน ม. 1435 ว. 1 ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ม. 1435 ว. 2 และ ม. 172 ว. 2 ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดานาย อ. ไม่ทราบว่านางสาว ข. อายุ 17 ปี ดังนั้นนางสาว ข. และบิดามารดาซึ่งเป็นจำเลย ต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตาม ม. 412 และ ม. 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตาม ม. 407 หาได้ไม่ ดังนั้นบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์-จำเลย ที่จำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
แบบของการหมั้น
การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ( ม. 1437 ) สัญญาหมั้นเป็นสัญญาพิเศษผิดกับสัญญาธรรมดาฉะนั้นการหมั้นจะต้องมีของหมั้นมิฉะนั้นการหมั้นไม่สมบูรณ์
2
ฏ. 525 / 2509 การหมั้นจะเรียกว่าหมั้นก็ต่อเมื่อฝ่ายชายนำของหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิงอันเป็นเรื่องที่เข้าใจกันตามธรรมดาและตามประเพณีเมื่อมีการหมั้นและฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน โดยที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษเช่นนี้ เมื่อฝ่ายชายเพียงแต่ตกลงว่าจะสมรสโดยไม่มีการหมั้นจึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้จะเรียกค่าทดแทนหาได้ไม่
การที่ไม่มีประเพณีท้องถิ่นว่าจะต้องมีของหมั้นไม่ใช่เหตุอันจะพึงยกขึ้นลบล้างบทกฎหมายได้
ของหมั้น คือทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที
ลักษณะสำคัญของของหมั้นจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ
1. ต้องเป็นทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง ลิขสิทธิ์ ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาเป็นของหมั้นได้
2. ต้องเป็นของที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิง
3. ต้องให้ไว้ในเวลาทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว
ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และต้องให้ไว้ก่อนสมรส ถ้าให้เมื่อหลังสมรสแล้วทรัพย์นั้นไม่ใช่ของหมั้น
ฎ. 592 / 2540 โจทก์ตกลงแต่งงานกับจำเลยที่ 3 โดยวิธีผูกข้อมือ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้มีเจตนาจะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตาม ป.พ.พ. ม. 1457 ฉะนั้นทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสามเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับจำเลยที่ 3 เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 3 ยอมสมรสตาม ป.พ.พ. ม. 1437 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมหลับนอนนั้นเป็นสิทธิของจำเลยที่ 3 เพราะการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 จะทำได้ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ยินยอมเป็นสามีภรรยากับโจทก์ตาม ป.พ.พ. ม.1458 การที่จำเลยที่ 3 ไม่ยินยอมหลับนอนกับโจทก์ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามตาม ปพ.พ. ม. 1439 และ ม. 1440
การรับผิดตามสัญญาหมั้น เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย ( ม. 1439 ) อายุความ(ม.1447/2)
คู่สัญญาที่ต้องรับผิดตามสัญญาหมั้น มี 3 จำพวกคือ
1. ชายหญิงที่เป็นคู่หมั้น
2. บิดามารดาของชายหญิงคู่หมั้นซึ่งเป็นคู่สัญญาหมั้น
3. บุคคลผู้กระทำในฐานะเช่นบิดามารดาของชายหญิงคู่หมั้น
สินสอด เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ( ม. 1437 ว. 3 )
ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยพฤติการณ์ซึ่งหญิงต้องรับผิด ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ลักษณะสำคัญของสินสอดมีอยู่ 3 ประการ คือ
3
1. ต้องเป็นทรัพย์สิน ตัวทรัพย์สินที่เป็นสินสอดไม่จำเป็นต้องมอบให้ในขณะทำสัญญา จะตกลงให้นำมามอบภายหลังก็ได้
2. ต้องเป็นฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง
3. ให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
ข้อสังเกต
1. ทรัพย์ที่เป็นสินสอดนั้นเมื่อได้ส่งมอบไปแล้วย่อมตกเป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ฝ่ายหญิงทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการสมรสกันก่อนแต่อย่างใด
2. การตกลงจะให้สินสอดแก่กันนั้นจะต้องตกลงให้แก่กันก่อนสมรส แต่การส่งมอบจะมอบให้ก่อนสมรสหรือหลังสมรสก็ได้
3. ในการตกลงให้สินสอดนี้กฎหมายมิไดกำหนดแบบไว้ เพียงตกลงด้วยวาจาก็ใช้บังคับได้
4. สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการหมั้นหรือการสมรส ชายหญิงจะทำการหมั้นหรือการสมรสกันโดยไม่ต้องมีสินสอดก็ได้
ข้อสังเกต หากได้มีการตกลงว่าจะให้สินสอดแก่กันแล้ว ฝ่ายชายไม่ยอมให้ บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงฟ้องเรียกสินสอดได้
5. ชายมีสิทธิเรียกสินสอดคืนได้นั้น มี 2 กรณี คือ
• ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง ( ม. 1442 )
ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ( ม. 1444 - 1445 )
ผลของการหมั้น
1. สิทธิเรียกค่าทดแทนจากคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่ง ( ม. 1440 )
(1) ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
ฎ. 5777 / 2540 การที่โจทก์จำเลยได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้วโจทก์ต้องเลิกร้างจากจำเลยด้วยเหตุที่จำเลยผิดสัญญาหมั้นนั้นย่อมเกิดความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งเป็นหญิง ในการที่จะทำการสมรสใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. ม. 1439 และ ม. 1440 ( 1 ) เมื่อคำนึงถึงการที่โจทก์ ไม่เคยผ่านสมรสมาก่อน มีฐานะพอสมควร มีการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลล่างกำหนดให้ 250,000 บาท นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว
(2) ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดา มารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะบิดา มารดา ได้ใช้หรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ค่าทดแทนความเสียหายที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพ หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยคาดหมายว่าจะมีการสมรส
4
2. สิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่น ถ้าหากชายอื่นมาล่วงเกินหญิงคู่หมั้น
การที่ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น โดยหญิงคู่หมั้นยินยอมมีหลักกฎหมายตาม ม. 1445 ดังต่อไปนี้
-- ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น
-- ชายอื่นนั้นรู้หรือควรรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นแล้ว และรู้ด้วยว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
-- ชายคู่หมั้นได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว ( จะต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนได้)
การที่ชายอื่นข่มขืนหรือพยามข่มขืนกระทำชำเราหญิงคู่หมั้นมีหลักกฎหมายตาม ม. 1446
-- ชายอื่นจะต้องรู้ว่าหญิงมีคู่หมั้นแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
-- ชายคู่หมั้นไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นก่อน ก็เรียกค่าทดแทนจากชายอื่นได้
ข้อสังเกต กรณีมีหญิงอื่นมาล่วงเกินชายคู่หมั้นทางประเวณี หญิงคู่หมั้นไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น โดยจะนำ ม. 1445 และ ม. 1446 มาอนุโลมใช้บังคับไม่ได้ (กฎหมายใช้คำว่า “ ชายอื่น ”)
3. สิทธิเกี่ยวกับของหมั้น ทรัพย์สินของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นสิทธิของหญิงในทันที แต่มีบางกรณีที่ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายก็ได้
กรณีที่ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงโดยไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย
1. เมื่อฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น ( ม. 1439 )
2. เมื่อชายหรือหญิงตายก่อนสมรส ( ม. 1441 )
3. เมื่อหญิงบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญเกิดแก่ชาย ( ม. 1443 )
กรณีที่หญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย มีดังนี้
1. เมื่อหญิงผิดสัญญาหมั้น ( ม. 1439)
2. เมื่อชายบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญเกิดแก่หญิง ( ม. 1442 )
การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้ามีข้อตกลงเรื่องค่าปรับในกรณีผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
การสิ้นสุดของการหมั้น
1. กรณีที่คู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส
2. กรณีมีการบอกล้างสัญญาหมั้น
3. กรณีที่มีการสมรส
4. การสิ้นสุดโดยความยินยอมของทั้งชายและหญิง
5. กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาหมั้นเนื่องจากมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่คู่หมั้น
• ชายบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น
หญิงบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น
5
กรณีค่าทดแทนในการเลิกสัญญาหมั้น มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ค่าทดแทนความเสียหายเรื่องการหมั้น ต้องเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว มิใช่ค่าขาดกำไรอันควรได้ และสิทธิเรียกค่าทดแทนเรื่องการหมั้นนี้นอกจากกรณีตาม ม. 1440 ( 2 ) ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท (ม. 1440 ( 2 ) เป็นสิทธิเฉพาะตัว เว้นแต่ สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว) อายุความในเรื่องการหมั้น
• กฎหมายกำหนดไว้ 6 เดือน เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้อง ( ม. 1447/2 )
• กรณีที่เรียกสินสอดคืน กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี
( ม.193/30 )
การสมรส คือการที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินกันฉันสามีภริยากันชั่วชีวิต โดยจะไม่เกี่ยวข้องทางชู้สาวกับบุคคลอื่นใดอีก
เงื่อนไขการสมรส
1. การสมรสจะทำได้ในระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น และจะทำการสมรสได้ก็ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ ( ม. 1448 )
2. หากผู้เยาว์จะทำการสมรส ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลตาม ม. 1454 , 1455 เสียก่อน
3. ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลส่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตาม ม. 1449 ถ้าฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะตาม ม. 1495
4. ชายหรือหญิงไม่ได้เป็นญาติสืบสายโลหิตต่อกันหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาตาม ม. 1450 ถ้าฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะตาม ม. 1495
5. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันมิได้ตาม ม. 1451 แต่กฎหมายมิได้บัญญัติให้การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อนี้เป็นโมฆะหรือโมฆียะ เนื่องจากผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมไม่มีความสัมพันธ์ในทางสายโลหิตกันเลย และมี ม. 1598 / 32 การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการฝ่าฝืน ม. 1451
6. ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่ตาม ม. 1452 การสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะตาม ม. 1495
7. หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อขาดจากการสมรสเดิมแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน แต่มีข้อยกเว้นตาม ม. 1453
8. ชายและหญิงยินยอมสมรสกันตาม ม. 1458 โดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย แบบแห่งการสมรส การสมรสจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้นตาม ม. 1457 ข้อสังเกตที่น่าสนใจ
1. เมื่อชายและหญิงจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ชายหญิงย่อมเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย แม้จะได้เลิกร้างกันไป 20 ถึง 30 ปี ทรัพย์สมบัติแบ่งแยกกันไปเป็นสัดส่วน แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า หญิงนั้นยังเป็นภริยาชายโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่
2. การที่สามีภริยาตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์สินกัน โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วแม้ภายหลังจะกลับมาอยู่กินกันใหม่แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย
6
3. การที่ชายหญิงสมรสกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น การสมรสดังกล่าวเป็นอันสมบูรณ์ ในปัจจุบันนี้โดยไม่จำเป็นต้องมาจดทะเบียนสมรสกันใหม่อีก
ฎ. 2616 / 2543 แม้ใบทะเบียนการสมรสมิได้ประทับตรานายทะเบียนก็หาทำให้ทะเบียนการสมรสไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะเพราะ พ.ร.บ. การจดทะเบียนครอบครัวกำหนดเพียงให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ มิได้ว่าต้องประทับตราแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา มี 2 ประเภท คือความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวกับความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน
ความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว
1. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
2. การช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน หากสามีภริยาไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามสมควร อีกฝ่ายหนึ่งย่อมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตาม ม. 1598 / 38 หรือหากประสงค์จะหย่าขาดจากกันก็อาจฟ้องหย่าได้ตาม ม. 1518 (6) สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้จะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ ในข่ายแห่งการบังคับคดีตาม ม. 1598 / 41
3. การแยกกันอยู่ต่างหากชั่วคราว
• สามีภริยาอาจทำข้อตกลงระหว่างกันเพื่อแยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้ ข้อตกลงนี้ใช้บังคับได้ แต่สถานะความเป็นสามีภริยายังคงมีอยู่ยังไม่ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลง ดังนั้นสามีหรือภริยาจะทำการสมรสใหม่ไม่ได้ ซึ่งผลของข้อตกลงนี้มีเพียงทำให้การแยกกันอยู่นี้แม้จะเป็นเวลานานเกิน 1 ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นการจงใจทิ้งร้าง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมาอ้างเป็นเหตุฟ้องอย่าตาม ม. 1516 ( 4 ) ไม่ได้ แต่ถ้าหากการตกลงแยกกันอยู่นี้เป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขและสามีภริยาได้แยกกันอยู่แล้วเป็นเวลาเกิน 3 ปี สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตาม ม. 1518 (4/2)
ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวตาม ม. 1462
--การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายอย่างมากของสามีหรือภริยา
--การอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่จิตใจอย่างมากของสามีหรือภริยา เช่น สามีชอบผู้ชายด้วยกันและนำเข้ามาอยู่ในบ้านด้วยเช่นนี้เป็นการทำร้ายจิตใจของภริยาอย่างมาก ภริยามีสิทธิร้องขอให้แยกกันอยู่ต่างหากเป็นการชั่วคราวได้
--การอยู่ร่วมกันจะเป็นการทำลายความผาสุขอย่างมากของสามีหรือภริยา ข้อสังเกต มีคำพิพากษาที่น่าสนใจที่วินิจฉัยว่า การที่จำเลยชอบดุด่า ชอบเสพสุรา เคยฟันโจทย์ 2 ครั้งที่แขนซ้ายและมือซ้าย เคยเอากาแฟร้อนสาดหน้าและต่อยโจทก์ และโจทก์ก็เคยฟันจำเลยถึงกระดูกนิ้วขาด พฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวจากการที่เป็นสามีภริยากันมารวม 2 ระยะ เป็นเวลาประมาณ 7- 8 ปี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถือว่าไม่มีลักษณะจะเป็นเหตุที่โจทก์พอจะให้ตนแยกกันอยู่ต่างหากจากจำเลย ดังที่บัญญัติไว้ใน ม. 1462 ( ฎ. 369 / 2509 )
7
การสิ้นสุดของการแยกกันอยู่
--สามีภริยาตกลงยกเลิกการแยกกันอยู่
--สามีภริยาอย่าขาดจากกัน
--สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย
ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน ( ม. 1470 )
1. สินส่วนตัว ( ม. 1471 ) คือทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ
(1) ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ทรัพย์สินเช่นว่านี้จะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายนั้นแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธ์เด็ดขาดของคู่สมรสฝ่ายใด แม้จะอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องได้กรรมสิทธิ์มาในภายหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส เช่นโจทก์และจำเลยได้ร่วมกันดำเนินกิจการร้านเสริมสวยตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกัน กิจการร้านเสริมสวยจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยมีอยู่แล้วก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตาม ม. 1471(1)
ตามแนว ฎ. 4650 / 2545
แต่ถ้า กรณีที่โจทก์มีที่ดินอยู่แล้วก่อนสมรสแม้ในระหว่างสมรสโจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองและได้สิทธิในการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และได้ขอออก น.ส. 3 สำหรับที่ดินของโจทก์ เช่นนี้เป็นเพียงขั้นตอนที่โจทก์จะได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินเท่านั้น ไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ที่มีเหนือที่ดิน เมื่อที่ดินของโจทก์มีมาก่อนอยู่กินและจดทะเบียนสมรสกับจำเลย จึงมิใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาระหว่างสมรส ไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัวตาม ฎ. 7174 / 2539
(2) ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ทรัพย์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา คือ ทรัพย์สินเหล่านี้ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาผู้ที่ได้รับมาทั้งสิ้น ไม่ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งๆที่ได้มาระหว่างสมรส เช่น กรณีได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรสกับผู้ตาย แต่ปรากฏว่าเป็นกรณีได้รับการยกให้ที่ดินภายหลังใช้บรรพ 5 ใหม่ พ.ศ. 2519 แล้ว เมื่อไม่ปรากฏมีหนังสือยกให้โดยระบุให้เป็นสินสมรส ก็ต้องถือว่าเป็นการยกให้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ม. 1471 (3) ตามแนว ฎ. 4982 / 2541
(4) ทรัพย์ที่เป็นของหมั้นเป็นสินส่วนตัวของภริยา
ข้อสังเกต
( 1 )ในกรณีที่สามีหรือภริยาได้รับรางวัลจากการกระทำสิ่งใดหรือจากการประกวดชิงรางวัล รางวัลที่ได้รับมานั้นเป็นสินส่วนตัว
( 2 ) ของแทนสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวนั้นถ้าได้มีการแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อขายทรัพย์สินอื่นมาด้วยสินส่วนตัวก็ดี หรือขายสินส่วนตัวได้เงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ตามเดิม เพราะเป็นไปตามหลักในเรื่องช่วงทรัพย์ตาม ม. 226 ว. 2 หรือสินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินหรือเงินทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวเช่นเดียวกัน
8
(3) การจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการตาม ม. 1473
2. สินสมรส บัญญัติไว้ใน ม. 1474 มี 3 ชนิดดังนี้
( 1) ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้นั้นหรือไม่ นอกจากนี้การที่สามีภริยาแยกกันอยู่หรือทิ้งร้างกันโดยไม่ได้อย่าขาดจากกันโดยเด็ดขาด ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ในระหว่างนั้นก็ถือว่าเป็นสินสมรสด้วย
( 2 ) ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรม หรือ โดยการให้เป็นหนังสือ ทรัพย์สินเช่นว่านี้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นตาม ม. 1471 (3) แต่หากเจ้ามรดกหรือผู้ให้ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจึงจะเป็นสินสมรส
ฎ. 2062 / 2535 จำเลยได้ที่พิพาทมาโดยบิดายกให้ แม้เป็นการยกให้ระหว่างสมรส แต่เมื่อการยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือระบุว่าให้เป็นสินสมรส ที่พิพาทจึงตกเป็นสินส่วนตัวตาม ม. 1471 (3) บทบัญญัติ ม. 1474 ว. 2 ที่ว่ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ใช่ ให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสนั้นไม่ใช่ ในกรณีที่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวโดยปราศจากข้อสงสัย
( 3 ) ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
การจัดการสินสมรส
หลัก สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสได้โดยลำพัง เว้นแต่ การจัดการที่สำคัญจึงจะต้องจัดการร่วมกันตาม ม. 1476 ( เมื่อการจัดการใดๆที่ทำให้เสียประโยชน์ หรือ เพิ่มภาระให้สินสมรส)
1. สามีภริยาเพียงคนเดียวมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินสมรสตาม ม. 1477
2. ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสที่สำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตแทนความยินยอมได้ตาม ม. 1478
3. ถ้าสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสที่สำคัญไปโดยลำพัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่มิได้ยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตาม ม. 1480 แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวอาจจะเป็นที่เสียหายแก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ม. 1480 จึงได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนซึ่งการเพิกถอนนิติกรรมนั้นจะไปกระทบกระเทือนสิทธิบุคคลภายนอกไม่ได้ ซึ่ง ม. 1480 วรรคท้าย กำหนดให้คู่สมรสที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมนั้นจะต้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่าได้มีการทำนิติกรรมหรืออย่างช้าภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรม
4. สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ตาม ม. 1481
5. สามีหรือภริยาโดยลำพังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวได้เสมอตาม ม. 1482
6. สามีหรือภริยาอาจขอให้ศาลสั่งห้ามคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมิให้จัดการสินสมรสอันจะก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดได้ตาม ม. 1483
7. ถ้ามีเหตุจำเป็น สามีหรือภริยาอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ม. 1484
หมายเหตุ สินสมรสระหว่างสามีภริยาที่ได้จดทะเบียนกัน ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง
9
ความรับผิดในหนี้สินของสามีภริยา หนี้สินของสามีภริยาแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี
1. หนี้ที่มีมาก่อนสมรส เป็นหนี้ที่ฝ่ายนั้นจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว แม้จะเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นหนี้ระหว่างกันเองมาก่อนก็ตาม ก็ยังคงเป็นลูกหนี้กันอยู่
2. หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส อาจจะเป็นหนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นหนี้ร่วมที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันก็ได้แล้วแต่กรณี ซึ่งโดยหลัก คู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดหนี้ หนี้ที่เกิดขึ้นก็เป็นหนี้ของฝ่ายนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นว่าเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ม. 1490 เช่น หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นในระหว่างสมรส ซึ่ง ม. 1490 บัญญัติให้ถือเป็นหนี้ร่วมนั้นหมายถึงการเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามแนว ฎ. 1908 / 2450
หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา หนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรส ม. 1490 กำหนดให้เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยามีอยู่ 4 กรณี คือ
1. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามอัตภาพ ม. 1490 (1)
2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส จะต้องเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสโดยตรง เช่น จำเลยกู้เงินโจทก์ไปไถ่จำนองที่ดินและบ้านอันเป็นสินสมรส หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสอันเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ม. 1490 (2) ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของตน ตามแนว
ฎ. 3141 / 2532
3. หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน ซึ่งการงานทุกอย่างที่สามีภริยาทำด้วยกันและเกิดเป็นหนี้ขึ้นเนื่องจากกิจการนั้นถือว่าเป็นหนี้ร่วมทั้งสิ้น ม. 1490 (3)
4. หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน คู่สมรสจะให้สัตยาบันด้วยวาจาก็ได้ ข้อสังเกต การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยานในสัญญาที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งทำขึ้นก็ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันในสัญญานั้นโดยปริยายแล้ว
การแยกสินสมรส ในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันนั้น อาจมีการแยกสินสมรสระหว่างสามีภริยาทั้งหมดออกจากกันโดยคำสั่งศาลหรือโดยผลของกฎหมาย อันมีผลทำให้สามีภริยาไม่มีสินสมรสอยู่อีกต่อไป คงมีแต่สินส่วนตัวเท่านั้นตาม ม. 1492 มี 3 กรณีดังต่อไปนี้
1. สามีหรือภริยาถูกศาลมีคำสั่งให้แยกสินสมรส เมื่อมีการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด หรือจะทำความเสียหายให้แก่สินสมรสตาม ม. 1484 ว. 2
2. สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายตาม ม. 1491
3. ศาลมีคำสั่งให้แยกสินสมรส ในกรณีที่สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและมีการตั้งบิดา มารดา หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาลตาม ม. 1598 / 17 ว. 2 ผล เมื่อมีการแยกสินสมรสระหว่างสามีภริยาทั้งหมดออกจากกันใน 3 กรณีนี้แล้ว สินสมรสส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่าย
10
ข้อสังเกต เมื่อมีการแยกสินสมรสระหว่างสามีภริยาทั้งหมดออกจากกันโดยคำสั่งศาลหรือโดยผลของกฎหมายทั้ง 3 กรณี เนื่องจากคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ คู่สมรสจึงอาจมีความประสงค์ที่จะให้มีการรวมสินสมรสกันใหม่ก็ได้ตาม ม. 1492 / 1 เฉพาะสินสมรสที่เกิดใหม่เท่านั้นจึงจะเป็นสินสมรส
การสมรสเป็นโมฆะ เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะมี 4 กรณี
1. การสมรสที่ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ อันเป็นการฝ่าฝืนตาม ม. 1449 ผลเป็นโมฆะตาม ม. 1495
2. การสมรสที่ชายหรือหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงต่อกันหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา อันเป็นการฝ่าฝืน ม. 1450 ผลเป็นโมฆะตาม ม. 1495
3. การสมรสซ้อน อันเป็นการฝ่าฝืน ม. 1452 ผลเป็นโมฆะตาม ม. 1495
4. การสมรสที่ชายหญิงไม่ยอมเป็นสามีภริยากัน อันเป็นการฝ่าฝืน ม. 1458 ผลเป็นโมฆะตาม ม. 1495
ข้อสังเกตที่สำคัญ คำพิพากษาของศาลเท่านั้น ที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน ม. 1449 , 1450 ,1458 เป็นโมฆะตาม ม. 1496 ส่วนเหตุที่จะแสดงว่าการสมรสซ้อนที่ฝ่าฝืนม.1452เป็น โมฆะได้ 2 กรณี คือ
1. บุคคลที่มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งได้กล่าวอ้างขึ้น หรือ
2. มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ
ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ
1. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ม. 1498
2. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ทำให้คู่สมรสที่สุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสและยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนอีกด้วยตาม ม. 1499 ในการสมรสที่เป็นโมฆะคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะทำการสมรสโดยสุจริต ไม่ทราบเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะได้ตาม ม. 1499 จึงให้ความคุ้มครองคู่สมรสไว้ 3 กรณี
• ชายหญิงผู้สมรสโดยสุจริตไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้น
• ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ เช่นตาม ฎ. 8882 / 2544
ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
ฎ. 3134 / 2530 ขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สมรสโดยสุจริต เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนเป็นเงิน 40,000 บาท และค่าเลี้ยงชีพเดือนละ 1,000 บาท เป็นการสมควรและเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
3. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตตาม ม. 1500
4. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ม. 1536, 1538, 1499 / 1
การสมรสเป็นโมฆียะ คือการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆียะ
1. การสมรสที่ชายและหญิงอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ตาม ม. 1448, 1504
11
ข้อสังเกต กรณีที่ศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะเหตุคู่สมรสอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จนชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ กฎหมายให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส ที่ไม่อาจมีใครมาร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ และต้องเป็นกรณีว่าทั้งชายและหญิงจะต้องอายุครบ 17 ปีด้วยกันทั้งสองคนจึงจะเข้าข้อยกเว้นที่ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส
2. กรณีที่หญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แม้ชายจะมีอายุเท่าใดก็ตามก็ขอให้เพิกถอนไม่ได้
การสมรสโดยสำคัญผิดตัวคู่สมรสตาม ม. 1505 คือการเข้าใจผิดในตัวบุคคลอันเป็นผลให้มิได้ทำการสมรสกับบุคคลที่ตนประสงค์ แต่หากเป็นการสำคัญผิดในฐานะของบุคคลแล้ว เหตุที่สำคัญผิดในฐานะของบุคคลนี้ไม่ทำให้การสมรสต้องเสื่อมเสียไป
3. การสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลตาม ม. 1506 กลฉ้อฉลตามความหมายนี้คือ การลวงให้เขาแสดงเจตนาสมรสแต่หากกลฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นโดยบุคคลภายนอกโดยคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้เห็นด้วยผลคือการสมรสที่ได้กระทำนั้นไม่เป็นโมฆียะ
การขอเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะถูกกลฉ้อฉลนี้เฉพาะแต่คู่สมรสที่ถูกกลฉ้อฉลเท่านั้นจึงจะมีสิทธิขอให้เพิกถอนตาม ม. 1508
4. การสมรสโดยถูกข่มขู่ตาม ม. 1507
5. การสมรสของผู้เยาว์ที่ไม่ได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง ตาม ม. 1509, 1510
ผลของการเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ
1. การสมรสที่เป็นโมฆียะย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนตาม ม. 1511 การสมรสที่เป็นโมฆียะจะสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งก็คือในวันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา
ในระหว่างการสมรสยังไม่ถูกเพิกถอนคู่สมรสมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาทั้งในทางส่วนตัวและทางทรัพย์สินก่อให้เกิดสินส่วนตัวและสินสมรสขึ้น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ถ้าคู่สมรสฝ่ายหลังนี้ตายก่อนศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส
2. ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและกำหนดการปกครองบุตรเช่นเดียวกับการหย่าโดยคำพิพากษาตาม ม. 1512
3. มีการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเลี้ยงชีพตาม ม. 1513 การหย่า หลักการเรื่องการหย่ามี 2 กรณี คือ
1. การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายมีหลักดังนี้
• การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานอย่างน้อย 2 คนตาม ม. 1514 ( การที่พยานอย่างน้อยสองคนจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือหย่า แต่กฎหมายไม่ได้กล่าวถึงคู่หย่าเองว่าจะต้องลงลายมือชื่อหรือไม่ กรณีนี้ต้องเป็นไปตาม ม. 9 ที่คู่หย่านั้นจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือหย่า มิฉะนั้นจะเป็นหนังสือหย่าไม่ได้
การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการหย่าตาม ม. 1515
2. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล โดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตาม ม. 1516
12
ฎ.1412 / 2543 ให้หลักถึงเหตุฟ้องหย่าไว้ว่าเหตุฟ้องหย่าตาม ม. 1516 แยกได้เป็น 2 กรณี คือ
• เหตุฟ้องหย่าที่มิได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกันของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงต้องกล่าวอ้างว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ม. 1516
เหตุฟ้องหย่าที่เกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตาม ม. 1516 (4/2 )
ข้อสังเกต 1. เหตุฟ้องหย่าอันเนื่องจากกรณีที่หนึ่งนั้นโจทก์ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่สมควร หรือการกระทำอันเข้าเงื่อนไขที่ ม. 1516 ได้ระบุไว้นอกจากอนุมาตรา ( 4/2 )
2. ส่วนเหตุฟ้องหย่าอันเกี่ยวจากกรณีที่สองก็ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มิใช่สมัครใจเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นหากพฤติการณ์แห่งคดีมิได้เป็นไปทั้งสองกรณีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย แม้ว่าจะมิได้อยู่ร่วมกันหรือไม่มีเยื่อใยต่อกัน และไม่มีความหวังที่จะคืนดีกันอีกก็ตาม อายุความฟ้องหย่าพิจารณาได้ดังนี้
1. ในการฟ้องหย่าหรือการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้หรือหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับสามีตาม ม. 1529 กำหนดอายุความไว้เพียง 1 ปี นับแต่วันที่คู่สมรสฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้รู้หรือควรรู้ความจริง
2. ในการฟ้องหย่าในกรณีที่มีลักษณะต่อเนื่องกันไปหรือเป็นการถาวรตาม ม. 1516 (5) ไม่มีอายุความตราบใดที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ฟ้องหย่าได้แต่ถ้าเหตุเหล่านี้สิ้นสุดลงแล้วจะยกขึ้นอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
3. ในกรณีฟ้องหย่าเพราะผิดทัณฑ์บนที่ทำไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติตาม ม. 1518 (8) ไม่มีลักษณะเป็นการต่อเนื่องแต่กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตาม ม. 193 / 30
ผลของการหย่า การแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา เมื่อหย่ากันแล้วให้แบ่งทรัพย์สินโดยให้ชายและหญิงมีส่วนเท่าๆกันตาม ม. 1533 และในกรณีที่มีหนี้ทั้งต้องรับผิดร่วมกันก็ให้แบ่งแยกความรับผิดนั้นออกเป็นส่วนเท่าๆกันตาม ม. 1535
บิดามารดากับบุตร
การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หลัก บุตรที่เกิดจากหญิงย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ
ข้อยกเว้น
1. เด็กที่เกิดระหว่างสมรสตาม ม. 1536 ให้สันนิษฐานว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี ข้อสันนิษฐานใช้บังคับกับกรณีเด็กเกิดแก่หญิงหม้ายภายใน 310 วัน หลังจากชายผู้เป็นสามีตาย หย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสกับหญิงด้วย
2. เด็กที่เกิดจากการสมรสเป็นโมฆะ กรณีการสมรสซ้อน
• หญิงทำการสมรสซ้อนตาม ม. 1452 ผลคือการสมรสครั้งที่สองเป็นโมฆะ หญิงคลอดบุตรออกมากฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายซึ่งเป็นสามีคนที่สองตาม ม. 1538 (ในกรณีสามีคนที่สองอาจพิสูจน์โดยการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ตาม ม. 1539 ผล เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าเด็กไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีคนที่สองแล้ว กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีคนที่หนึ่งตาม ม. 1538 ว. 2 ตอนท้าย )
13
ชายสมรสซ้อน เป็นกรณีชายจดทะเบียนสมรสกับภริยาสองคนหรือกว่านั้นขึ้นไป ผลคือการสมรสครั้งที่สองเป็นโมฆะ บุตรที่เกิดจากภริยาคนที่สองและภริยาคนต่อๆไปก็ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีตาม ม. 1538 ว. แรก
3. กรณีเด็กเกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆียะตาม ม. 1448 , 1505 , 1506 , 1507 ,1509 บุตรเกิดระหว่างสมรสซึ่งศาลพิพากษาให้เพิกถอนภายหลังให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตาม ม. 1560
4. กรณีเด็กเกิดจากหญิงหม้าย ซึ่งทำการสมรสใหม่ภายในเวลาไม่เกิน 310 วันนับแต่วันขาดจากการสมรสเดิมตาม ม. 1537 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนตาม ม. 1453 กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดแต่หญิงนั้น ให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายสามีคนใหม่ แต่ห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานตาม ม. 1536 ว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรของชายผู้เป็นสามีคนใหม่
5. กรณีเด็กที่มิได้เกิดแต่บิดาที่จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย
• เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นตาม ม. 1546
• บิดามารดาสมรสกันภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรตาม ม. 1547
ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรซึ่งจะมีผลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ม. 1557 (3) ( เด็กจะมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยไม่ย้อนหลังไปถึงวันที่เด็กเกิดแต่อย่างใด )
ข้อสังเกต กรณีตาม ม. 1558 ว. 1 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก หากว่าศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
• กรณีบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว บุตรบุญธรรมให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ม. 1627
การรับบุตรบุญธรรม หลักเกณฑ์ในการรับบุตรบุญธรรมตาม ม. 1598 / 19
1. ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมนั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี
2. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
3. ในการรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรม จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของผู้เยาว์ก่อน ในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน
4. ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมที่มีคู่สมรสแล้ว ในการรับหรือเป็นบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
5. ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลหนึ่งอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
6. การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
สิทธิและหน้าที่ของผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรม
1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมตาม ม. 1598 / 28
14
2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ทำนองเดียวกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ม. 1563
สิทธิและหน้าที่ของผู้รับบุตรบุญธรรม
1. มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรบุญธรรม
2. ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม อย่างไรก็ตาม ถ้าบุตรบุญธรรมตายก่อนโดยไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดาน ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดก เพียงเท่าที่ยังคงเหลืออยู่หรือภายหลังจากชำระหนี้กองมรดกแล้วตาม ม. 1598 / 29 , 1598 / 30
3. ผู้รับบุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม
การเลิกรับบุตรบุญธรรม
1. โดยความตกลงตาม ม. 1598 / 31 แต่จะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
2. การเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนตาม ม. 1598 / 32
3. การเลิกรับโดยคำสั่งศาลตาม ม. 1598 / 33 และมีผลตั้งแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะยกขึ้นอ้างบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อจดทะเบียนแล้ว
4. อายุความคดีฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรม ต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขอเลิกรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ หรือภายในกำหนด 10 ปี นับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น
…………………………………………………………..
หลวงวิจิตรวาทการ......กล่าวว่า.......
.....สิ่งสำคัญที่สุดในจริยวัตรของมนุษย์ คือต้องพยายามที่จะไม่ให้เวลาล่วงไปโดยไม่มีประโยชน์
เราต้องตีราคาคุณค่าของเวลาให้สูงมาก การเสียเวลาเท่ากันกับเสียทรัพย์ เสียโอกาส
เสียหนทางแห่งความก้าวหน้า และเป็นการสูญเสียที่เราไม่สามารถจะโทษผู้อื่นได้
นอกจากตัวของเราเอง.......
ลิขสิทธิ์ของคณะกรรมการนักศึกษาสมัยที่ 58

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 มีนาคม 2554 เวลา 11:18

    เนื้อหาดีมากๆ คับ พอดีว่ากำลังจะเรียนเนติครับ ถ้าพี่มีเนื้อหาวิชาอื่นๆ รบกวนพี่ส่งเนื้อหาเข้า Piressornram@hotmail.com ด้วยนะครับ ขอบคุงสำหรับเนื้อหาเปนอย่างสูงครับ

    ตอบลบ
  2. สรุปย่อมีประโยชน์ น่าติดตามคะ

    ตอบลบ
  3. นอกจากฎีกา 2626/2518 เรื่องอำนาจฟ้องกรณี ม.1435 ที่จำเลยไม่ยกต่อสู้ พอจะมีฎีกาใหม่ๆ มั้ยคะ

    ตอบลบ