สรุป กฎหมาย ป.วิ แพ่งภาค1
วิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกฎหมายประเภทวิธีสบัญญัติ ที่วางวิธีปฏิบัติต่างๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งทั้งปวง เริ่มตั้งแต่การฟ้องคดีจนถึงการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
คดีแพ่งนั้น มี 2 ประเภทตาม มาตรา 55 คือ
1. คดีมีข้อพิพาท เป็น คดีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย และเริ่มต้นคดีประเภทนี้โดยการเสนอ “คำฟ้อง”
2. คดีไม่มีข้อพิพาท เป็นคดีที่บุคคลต้องการใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ต้องร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตก่อน และเริ่มต้นคดีประเภทนี้โดยการเสนอ “คำร้องขอ”
โดยทั่วไปเนื้อหาหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมี 4 ภาค ตามลำดับดังนี้
ภาค 1 บททั่วไป
ภาค 2 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
ภาค 3 อุทธรณ์และฎีกา
ภาค 4 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาและการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
แต่ในสรุปนี้จะอธิบายถึงเนื้อหาที่สำคัญในการสอบตาม ภาค 1 เท่านั้นดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ภาค 1 บททั่วไป
เป็นบทที่บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหา 6 ลักษณะดังนี้
ลักษณะ 1 บทวิเคราะห์ศัพท์
ลักษณะ 2 ศาล
ลักษณะ 3 คู่ความ
ลักษณะ 4 การยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร
ลักษณะ 5 พยานหลักฐาน
ลักษณะ 6 คำพิพากษาและคำสั่ง
แยกศึกษาตามหัวข้อได้ดังนี้ คือ
ลักษณะ 1 บทวิเคราะห์ศัพท์
เป็นลักษณะที่บัญญัติถึงความหมายของคำศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง เพื่อให้มีความเข้าใจและการตีความกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนี้ ได้อย่างถูกต้องตรงกัน โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 1 ซึ่งมีทั้งหมด 14 คำดังนี้
1. “ ศาล ” ตามมาตรา 1(1) หมายความว่า ศาลยุติธรรม(สถานที่) หรือ ผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณา
พิพากษาคดีแพ่ง
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ.5449/2531 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ แม้ต่อมาศาลในคดีดังกล่าวจะยกคำร้อง แต่ก็เพื่อให้ผู้ร้องมายื่นคำร้องใหม่ให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องเท่านั้น หาทำให้คำร้องที่ยื่นไว้ต่อศาลโดยชอบแล้วข้างต้นเสียไปไม่ เพราะเมื่อคำร้องครั้งแรกยื่นภายในระยะเวลาตามกฎหมาย แม้จะมายื่นคำร้องอีกครั้งเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด ต้องถือว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว เพราะศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยื่นครั้งแรกกับครั้งที่สอง เป็นการยื่นต่อศาลเดียวกัน
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
2. “ คดี ” ตามมาตรา 1 (2) หมายความว่ากระบวนพิจารณาตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาล เพื่อให้รับรองคุ้มครองบังคับหรือเพื่อการใช้สิทธิหรือหน้าที่
ข้อสังเกต
1. ความหมายของมาตรานี้ เกี่ยวข้องกับอำนาจของทนายความ,ผู้รับมอบอำนาจคดี คือถ้าเขาดำเนินการเกี่ยวกับคดีเรื่องใดแล้ว เขาก็สามารถหรือมีอำนาจที่จะดำเนินคดีในเรื่องนั้นๆ ได้ตลอดไป และทุกขั้นตอนของการดำเนินคดี
2. ไม่มีกำหนดเวลาว่าจะจบสิ้นเมื่อใด กล่าวคือ การดำเนินคดีจะต้องมีไปจนกว่าผู้ฟ้องหรือผู้ร้องได้รับผลตามที่ตนขอบังคับ หรือตามที่ตนร้องขอไว้
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 581/2506 การที่ทนายโจทก์ในคดีเดิมใช้สิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีอื่น สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องแต่งทนายเข้ามาในคดีที่ขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นอีก
ฎ. 4621/2530 โจทก์ฟ้องคดดีอาญาโดยมอบให้ ช.ดำเนินคดีแทน ในหนังสือมอบอำนาจระบุว่า ให้ ช.เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญากับจำเลย โดยให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ได้ ดังนั้น คำว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนย่อมหมายความว่า ให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั่นเอง หาได้มีแต่อำนาจร้องทุกข์เท่านั้นไม่ ผู้รับมอบอำนาจ(ช.)จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
3. “ คำฟ้อง ” ตามมาตรา 1(3) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล
1) ไม่ว่าจะเสนอด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือ
2) ไม่ว่าจะเสนอต่อศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา
3) ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะเริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติม หรือแก้ไข หรือฟ้องแย้ง หรือร้องสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่
ข้อสังเกต
1. จากบทนิยามนี้ คำฟ้องจึงมีอยู่ 6 ประเภท โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ก. ช่วงที่เสนอในขณะเริ่มคดี ได้แก่
(1) คำฟ้อง (คดีมีข้อพิพาท)
(2) คำร้องขอ (คดีไม่มีข้อพิพาท)
ข. ช่วงที่เสนอในภายหลังเริ่มคดี
(3) คำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข
(4) คำฟ้องแย้ง
(5) คำร้องสอดเข้ามาในคดี ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ
(6) คำขอให้พิจารณาใหม่
2. ถ้าเป็นกรณีที่คู่ความเดิมยื่นคำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาตามมาตรา 57(3) คำร้องนี้ไม่ใช่คำร้องสอด เพราะไม่ใช่การเสนอข้อหาใดๆต่อศาล ดังนั้น จึงไม่ถือเป็นคำฟ้องหรือคำคู่ความ
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 2588/2522 จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ คำสั่งนั้นไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามมาตรา 226(2) เพราะ คำร้องอย่างนี้ไม่ใช้คำฟ้องหรือคำคู่ความที่จะสามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้
ในมาตรา 1(3)นี้ บัญญัติไว้เพียงเพื่อให้เรารู้ว่า อะไรคือคำฟ้องเท่านั้น ส่วนคำฟ้องแต่ละประเภทนั้น มีหลักเกณฑ์อย่างไรต้องดูตามบทบัญญัติของแต่ละเรื่องไป เช่น คำฟ้องเมื่อเริ่มคดี ต้องดูตามมาตรา 172 วรรค 2 เป็นต้น
3. คำฟ้องในศาลชั้นต้น กับคำฟ้องอุทธรณ์ฎีกานั้น มีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน เพราะคำฟ้องในศาลชั้นต้นนั้นเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลย (โจทก์กล่าวหาจำเลย ) แต่คำฟ้องอุทธรณ์ฎีกานั้นผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาได้กล่าวหาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ว่าชี้ขาดคดีโดยมีข้อบกพร่อง
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 821/2511(ประชุมใหญ่) คำขอพิจารณาใหม่ไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายขอ ถือว่าเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3)
ฎ. 1363/2514 คำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนการยึด ถือเป็นคำฟ้อง ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามราคาที่ยึด เพราะเข้าหลักการของคำฟ้องคือ มีข้อกล่าวหาและมีคำขอบังคับ
ฎ.6/2516 จำเลยให้การและฟ้องแย้งเข้ามา โดยฟ้องแย้งของจำเลยขอให้ตั้งผู้ตรวจบัญชีและเอกสารของธนาคารโจทก์ เพื่อแสดงผลความรับผิดชอบว่าใครเป็นหนี้ใครเท่าไร ไม่ใช่เป็นการข้อเสนอข้อหาต่อศาล จึงไม่ถือว่าเป็นฟ้องแย้ง เพราะคำว่ากล่าวหานั้น ต้องมีคำขอบังคับ หรือมีสภาพบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิบัติโดยอาศัยอำนาจของศาล
ฎ. 2964/2522 คำร้องขอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่เป็นคำฟ้อง ต้องอยู่ในบังคับ มาตรา172 ด้วย
1447/2530 คำร้องสอดของผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (1)เป็นคำฟ้อง จึงต้องอยู่ในบังคับมาตรา 172 ด้วย มิฉะนั้นจะเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบ
ฎ. 1936/2530 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง มีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลจะสั่งในระหว่างพิจารณา ก็อุทธรณ์ทันที่ได้
43/2538 การที่ผู้ร้องสอด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความ อ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นบุตรของเจ้ามรดก จึงมีสิทธิรับมรดก ส่วนโจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม จึงไม่มีสิทธิรับมรดกนั้น… แม้คำขอท้ายฟ้องระบุว่าขอเป็นจำเลยร่วมโดยหลงผิด ก็ถือว่าได้เป็นการร้องขอตามมาตรา 57 (1) และคำร้องขอดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นคำขอบังคับอยู่ในตัว ประกอบกับผู้ร้องสอดมิได้เรียกร้องอะไร เพียงแต่ขอให้ยกฟ้อง จึงไม่จำต้องมีคำบังคับโดยชัดแจ้งในคำร้องสอดอีกก็ถือเป็นคำฟ้องที่ถูกต้องตาม มาตรา 172 แล้ว
1935/2540 โจทก์ร้องสอดเข้ามาในคดีเดิม ซึ่งมีการขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับคดีแล้ว คำร้องสอดของโจทก์นั้นก็ถือเป็นคำฟ้องแล้ว ถึงแม้ว่าศาลจะยกฟ้องแล้วโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยืน โจทก์ฎีกา ก็ถือว่ามีคำฟ้องของโจทก์อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา เมื่อโจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่อีก ก็ถือว่าเป็นการฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 173
ฎ.4686/2540 คำแถลงการณ์ไม่ใช่คำฟ้องอุทธรณ์ โจทก์จะตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำแถลงการณ์ไม่ได้ เมื่อไม่ได้กล่าวประเด็นใดในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ ( คำแถลงการณ์นั้นจะนำมาตั้งประเด็นไม่ได้ คำแถลงการณ์เป็นเพียงคำอธิบายเท่านั้น )
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
4. “ คำให้การ ” ตามมาตรา 1(4) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์
ข้อสังเกต
1. แม้ในคำนิยามนี้จะใช้คำว่าฝ่ายหนึ่งยกเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องปฏิเสธข้ออ้างเสมอไปจึงจะถือว่าเป็นคำให้การ เพราะในกรณีที่รับตามฟ้องก็ถือว่าเป็นคำให้การเหมือนกัน โดยพิจารณาจากมาตรา 177 วรรค 2
2. คำให้การในที่นี้หมายถึง กระบวนพิจารณาในศาลเท่านั้น กรณีที่ยื่นเป็นข้อแก้ฟ้อง คำเบิกความของพยานในชั้นศาล หรือให้การต่อเจ้าพนักงานในชั้นสอบสวน ไม่ได้อยู่ในตามความหมายของคำว่าคำให้การตามมาตรา 1 (4)
3. ในชั้นอุทธรณ์และฎีกานั้น ถ้ามีคำอุทธรณ์หรือคำแก้ฎีกา คำแก้อุทธรณ์และฎีกาก็ต้องถือ
เสมอหนึ่งว่าเป็นคำให้การเหมือนกัน
4. คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ ก็ถือเป็นคำให้การเหมือนกัน
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 1012-13/2505(ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่าคำให้การเพิ่มเติมนั้นเป็นคำคู่ความ เมื่อศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เพิ่มเติม ถือเป็นการไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 18 อุทธรณ์ฎีกาได้ทันทีโดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อน (เพราะมิให้ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 227 )
ฎ.22/2506 คำแถลงของจำเลยที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ไม่ใช่คำให้การของจำเลย
5. คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ ก็ถือเป็นคำให้การเหมือนกัน ส่วนข้ออ้างในคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การนั้น จะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
6. คำเบิกความของจำเลยที่มีสิทธิที่จะอ้างตนเองเป็นพยานตาม มาตรา 199 นั้น เป็นเพียงคำเบิกความของพยานในฐานะที่อ้างตนเองเป็นพยานเท่านั้น ถึงแม้จะเบิกความในลักษณะที่เป็นข้อต่อสู้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความนั้นไม่ถือว่าเป็นคำให้การที่เป็นประเด็นข้อต่อสู้ตาม ป.ว.พ นี้
7. กรณีในคดีที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยคำฟ้อง แต่เป็นคดีที่เริ่มต้นด้วยคำร้องขอ ถ้ามีการร้องคัดค้านคำร้องขอนั้นเข้ามา อาจารย์อุดม เฟื่องฟุ้ง มีความเห็นว่าน่าจะเป็นคำให้การ แต่ถึงแม้จะเป็นหรือไม่ก็ตาม คำร้องขอคัดค้านนั้นก็ต้องถือว่าเป็นคำคู่ความตาม มาตรา1(5) เพราะเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ
8. กรณีที่เราต้องพิจารณาว่าเป็นคำให้การหรือไม่นั้น มีความสำคัญต่อการถอนฟ้อง คือ เรื่องการถอนฟ้องนั้น ไม่ว่าจะเป็นการถอนฟ้องในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ หรือฎีกามีหลักเกณฑ์กำหนดว่า ถ้าหากมีการยื่นคำให้การแล้ว การถอนฟ้องนั้นศาลจะสั่งอนุญาตไม่ได้ เว้นแต่จะสอบถามอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน ถ้าไม่มีการยื่นคำให้การก็สั่งอนุญาตได้เลย
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
5. “ คำคู่ความ ” ตามมาตรา 1(5) หมายความว่า บรรดาคำฟ้อง คำให้การ หรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาล เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ
ข้อสังเกต
1. คำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การไม่ใช่คำคู่ความ และไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การ (ฎ.813/28)
2. คำร้องต้องเป็นกรณีเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ ส่วนคำฟ้องหรือคำให้การนั้น จะตั้งประเด็นหรือไม่ตั้งประเด็น ก็ต้องถือเป็นคำคู่ความ
3. ต้องเข้าใจว่า ถ้าเป็นคำฟ้องหรือคำให้การแล้ว ถือเป็นคำคู่ความ ซึ่งจะตั้งประเด็นหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่ใช่คำฟ้องหรือคำให้การแล้ว ต้องดูว่าสิ่งนั้นเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความหรือไม่ ถ้าเป็นก็ถือเป็นคำคู่ความ
4. การที่จะต้องวินิจฉัยหรือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นคำคู่ความหรือไม่นั้น เพราะคำคู่ความนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสิทธิของคู่ความในการอุทธรณ์ฎีกา ตามมาตรา 18 , 226 - 228
5. คำคู่ความนี้มีความเกี่ยวข้องกับ มาตรา 18 และเรื่องหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ฎีกาบ่อยมาก ดังนั้นควรศึกษาเรื่องดังกล่าวควบคู่กันไป
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 1226/2510 คำขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 เป็นคำคู่ความ เพราะคำร้องสอดเป็นคำฟ้อง
ฎ. 5496/2533 เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์โดยให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้ก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มโดยให้คำนวณทุนทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายในกำหนด๒๐ วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ และจำหน่ายคดีของผู้ร้อง คำสั่งดังกล่าวหาใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ วรรคสุดท้าย เนื่องจากมิใช่คำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๑) ผู้ร้องต้องทำคำคัดค้านโต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๒) เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ต้องเสียเพิ่มมาชำระภายในเวลาที่ศาลกำหนด ถือว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้ เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๗๔ (๒)
ฎ. 9117/2538 ศาลสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับคำให้การของจำเลย เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๘ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ทันที ตามป.วิ.พ.มาตรา ๒๒๘ (๓)
ในระหว่างที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำให้การ ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป และศาลอุทธรณ์มิได้สั่งให้ศาลชั้นต้นงดการพิจารณาคดีไว้ก่อน ตาม ป.วิ.พ. ๒๒๘ วรรคสอง จนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเสร็จเด็ดขาดถึงที่สุดแล้ว การที่จะให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำให้การใหม่ ไม่ว่าผลการไต่สวนจะเป็นประการใดย่อมไม่อาจจะทำให้ผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วเปลี่ยนแปลงไปได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
6. “คำแถลงการณ์” ตามมาตรา 1(6) หมายความว่า คำแถลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ซึ่งคู่ความฝ่าย
หนึ่งกระทำหรือยื่นต่อศาลด้วยมุ่งหมายที่จะเสนอความเห็นต่อศาล ในข้อความในประเด็นที่ได้ยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ หรือในปัญหาข้อใดที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งในข้อเหล่านี้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่แสดง หรือกล่าวทบทวน หรือยืนยัน หรืออธิบายข้อความแห่งคำพยานหลักฐาน และปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวง คำแถลงการณ์อาจรวมอยู่ในคำคู่ความ
ข้อสังเกต
1. คำแถลงการณ์แยกออกเป็นลักษณะได้ดังนี้
1. เป็นเรื่องที่คู่ความกระทำต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น
2. คำแถลงการณ์นั้นไม่มีผลเป็นการตั้งประเด็นเข้ามาใหม่
3. คำแถลงการณ์เป็นหนังสือนั้นจะยื่นต่างหากหรือยื่นรวมมาในคำคู่ความก็ได้
2. ผู้มีสิทธิทำคำแถลงการณ์ จะต้องเป็นคู่ความในประเด็นที่พิพาทนั้น
3. คำแก้อุทธรณ์ที่ศาลไม่รับฟัง เพราะยื่นเมื่อเกินกำหนด อาจยื่นเป็นคำแถลงการณ์ได้ (ฎ.3260/28)
4. ในทางปฏิบัตินั้น ถ้าหากว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือแล้ว ฝ่ายที่ยื่นต้องส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยศาลต้องเป็นผู้สั่ง
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
7. “ กระบวนพิจารณา ” ตามมาตรา 1(7) หมายความว่า การกระทำใดๆตามที่บัญญัติไว้ในประมวล
กฎหมายนี้ อันเกี่ยวกับคดี ซึ่งกระทำโดยคู่ความในคดีนั้น หรือโดยศาล หรือโดยคำสั่งศาล ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาล หรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลกระทำต่อคู่ความฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้
ข้อสังเกต
1. สรุป เริ่มต้นตั้งแต่ยื่นฟ้องจนถึงการบังคับคดีเลย
2. ความหมายของกระบวนพิจารณานั้นสำคัญตรงที่ ถ้าการกระทำนั้นเป็นกระบวนพิจารณาแล้ว จะต้องทำการใดๆในกระบวนพิจารณานั้นให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ใน ป.ว.พ. ที่เรื่องนั้นๆได้บัญญัติไว้ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ต้องถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อาจถูกเพิกถอนได้ตามมาตรา 27
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 967/2594 การยื่นฟ้องอุทธรณ์นั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผู้อุทธรณ์จะต้องดำเนินต่อศาลอย่างหนึ่งตามความหมายของ ป.ว.พ.มาตรา 1(7) ฉะนั้นจึงนำมาตรา10 มาใช้บังคับได้
ฎ. 427/2510 ป.ว.พ. มาตรา1(7) กระบวนพิจารณา หมายถึงการฟ้องคดีต่อศาลด้วย เมื่อ มาตรา 62 ให้ทนายโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ ทนายจึงมีอำนาจลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ได้
( ระวังสับสนกับกรณีของคดีอาญา เพราะ คดีอาญาทนายจะลงชื่อในคำฟ้องแทนตัวโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่ จะได้รับมอบอำนาจให้ลงได้เป็นการเฉพาะ )
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
8. “ การพิจารณา ” ตามมาตรา 1(8) หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่ง ก่อน
ศาลนั้นชี้ขาดตัดสินคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ข้อสังเกต
1. การพิจารณานั้นเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนพิจารณา โดยเริ่มต้นตั้งแต่การยื่นฟ้อง จนถึงเวลาที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือจำหน่ายคดี ไม่ว่าจะเป็นในศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ หรือฎีกา
2. หากยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือจำหน่ายคดีแล้ว ก็ถือว่าคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น
3. การวินิจฉัยหรือพิจารณาว่าอะไรคือการพิจารณานั้น มีความสำคัญดังนี้
1) ทำให้ทราบว่าว่าคำสั่งของศาลในขณะนั้นๆ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่
2) ทำให้ทราบว่าเรื่องนั้นๆ อยู่ในอำนาจสั่งการของศาลใด(ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา) เพราะมีหลักอยู่ว่า ถ้าหากว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาแล้ว ศาลได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคดีนั้น ก็ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลนั้น สิทธิและหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ฎีกา ก็ต้องพิจารณากันไปตามหลักเกณฑ์ของการอุทธรณ์หรือฎีกาในแต่ละศาลนั้นเอง
3) ถ้าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด การสั่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ให้เป็นอำนาจของศาลซึ่งคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา กล่าวคือ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด ศาลนั้นก็มีอำนาจสั่งการต่างๆเกี่ยวกับคดีนั้นเอง
4. คดีที่ศาลทำคำตัดสินแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านให้คู่ความฟัง ถือว่าคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลนั้น (คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 519/2589)
5. คดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ไม่ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา (ฎ.1748/2511) แต่ถ้าเกิดมีปัญหาโต้แย้งกันในชั้นบังคับคดีแล้ว และมีการเสนอปัญหานั้นกลับมาให้ศาลพิจารณาเรื่องนั้นอีก ก็ต้องถือว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาในส่วนนั้น ในทางปฏิบัติเรียกว่า “ การพิจารณาของสาขาคดี ”
6. ตราบใดที่ศาลยังมิได้พิพากษาคดี ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา(ฎ.1587/2514ประชุมใหญ่)
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 421/2524 การที่คู่ความขอให้ศาลชั้นต้นรอฟังผลคำพิพากษาในคดีอื่น เพื่ออาศัยเป็นหลักในการตัดสินคดี เป็นการร้องขอให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณา ตามมาตรา 39 ที่ศาลชั้นต้นนั้นต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว มีผลเท่ากับมีคำสั่งเลื่อนการนั่งพิจารณาชั่วคราวั่นเอง คดีจึงยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นอยู่
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
9. “ การนั่งพิจารณา ” ตามมาตรา 1(9) หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดี เช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่างๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา
ข้อสังเกต
1. การนั่งพิจารณาในห้องทำงานของศาลกรณีบัลลังค์ไม่พอ ก็ถือเป็นการนั่งพิจารณาเหมือนกัน รวมทั้งการเดินเผชิญสืบด้วย
2. การขอให้มาแก้ไขถ้อยคำผิดพลาด หรือเรียกทนายความมาสอบถามฝ่ายเดียว ไม่ถือเป็นการนั่งพิจารณา
3. ในกรณีที่มีการขอสืบพยานไว้ก่อนที่ยังไม่มีการฟ้องคดี ก็ถือเป็นการนั่งพิจารณาคดีได้ตามมาตรา 101
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
10. “วันสืบพยาน” ตามมาตรา1(10) หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน
ข้อสังเกต
1. วันสืบพยานต้องเป็นวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานในคดีนั้นจริงๆ ตามที่นัดหมายไว้ไม่ว่าเป็นการสืบพยานโจทก์หรือจำเลย
2. วันที่มีการนัดไว้แล้ว แต่มีการเลื่อนไป ก็ไม่ถือว่าวันที่นัดไว้ดังกล่าวเป็นวันสืบพยาน
3. การวินิจฉัยว่าวันใดเป็นวันสืบพยาน มีความสำคัญเกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยาน การแก้ไขคำฟ้อง คำให้การ และการสั่งขาดนัดพิจารณา
4. แม้ไม่มีการสืบพยานในศาล แต่ในการเดินเผชิญสืบนอกศาลถ้าเป็นกรณีนัดหมายนัดแรก ก็ต้องถือว่าวันนั้นเป็นวันสืบพยานครั้งแรกตาม มาตรา 1(10) เหมือนกัน ดังนั้น หากคู่กรณีทุกฝ่ายมาร่วมเผชิญสืบกันทุกคนแล้ว นัดต่อมาคู่ความฝ่ายใดไม่ไปศาล ก็จะสั่งว่าเป็นการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรค 2 ไม่ได้ เพราะ การขาดนัดตาม มาตรา 197 วรรค 2 นั้น จะสั่งได้เฉพาะในกรณีที่ไม่มาในวันสืบพยานนัดแรกเท่านั้น
5. ในกรณีที่มีการสืบพยานนัดแรกนั้นเป็นการส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น ก็ถือเป็นวันสืบพยาน ตาม มาตรา 1(10) เหมือนกัน แต่กรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดในกรณีข้างต้น ศาลที่รับประเด็นจะสั่งว่าเป็นการขาดนัดไม่ได้ (เพราะไม่มีอำนาจ) ศาลที่รับประเด็นนั้นต้องส่งประเด็นกลับคืนศาลเดิม ให้ศาลเดิมนัดสืบพยานครั้งแรกใหม่ และการสืบพยานครั้งแรกนี้ ก็จะถือเป็นการสืบพยานครั้งแรกตาม มาตรา 1(10)
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 2909/2524 เมื่อคดีไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานได้ทำการชี้สองสถาน หรือทำการสืบพยาน โจทก์ย่อมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา
ฎ. 7360/2529 ในวันนัดชี้สองสถานจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน โดยศาลแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยระบุในหมายว่า “นัดสืบพยานโจทก์” จึงถือว่าจำเลยทราบว่ามีหน้าที่ (คือในรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่าให้นัดสืบพยานจำเลย แต่ไปออกหมายนัดระบุให้สืบพยานโจทก์ก่อน) จึงยังถือไม่ได้ว่าวันที่ศาลนัดจำเลยสืบพยานนั้นเป็นวันสืบพยานครั้งแรกและเมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันดังกล่าว จะถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรค 2 ไม่ได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
11. “ คู่ความ ” ตามมาตรา 1(11) หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์
แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณา ให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำแทนบุคคลนั้นๆตามกฎหมายในฐานะทนายความ
ข้อสังเกต
1. ผู้ที่จะเป็นคู่ความได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะหมายถึงบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ เช่น คณะบุคคลที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจเป็นคู่ความได้ จึงไม่อาจจะฟ้องหรือถูกฟ้องได้ (ฎ.495/19) แต่อาจเป็นคู้ความได้ในฐานะบุคคลธรรมดาที่กระทำในรูปของคณะบุคคลหรือคณะกรรมการได้
2. สิทธิของบุคคลบางประเภทอาจจะถูกจำกัดหรืออาจได้รับอภิสิทธิ์ก็ได้ เช่น คณะฑูต
3. บุคคลที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมหรือว่าเป็นคู่ความในคดี กล่าวคือ เมื่อถูกเรียกเข้ามาก็มีฐานะเป็นคู่ความทันที ส่วนจะเข้ามาหรือยังนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง (ฎ.1737/94)
4. ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มีฐานะเป็นคู่ความ (ฏ.2947/16(ประชุมใหญ่))
5. นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ศาลได้ (ฎ.1282/24)
6. สาขาของนิติบุคคลไม่ได้เป็นนิติบุคคลต่างหากจากสำนักงานใหญ่ เพียงแต่เกี่ยวกันในกรณีที่ถือว่าเป็นภูมิลำเนาหนึ่ง ดังนั้นสาขานั้นต้องมีการจดทะเบียนจึงจะเป็นคู่ความได้
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 474/2523 โจทก์ฟ้องจำเลย แม้ศาลยังไม่ได้เรียกจำเลยมาให้การแก้คดี ก็ถือว่ามีฐานะเป็นจำเลยแล้ว การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์กลับให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา จำเลยมีสิทธิฎีกาได้
ฎ.5674/2530 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. เพียงแต่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้เพื่อทำการดังกล่าว ไม่ใช่บุคคล จึงยื่นฟ้อง หรือถูกฟ้อง หรือจะมอบอำนาจให้คนอื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนไม่ได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
12. “ บุคคลไร้ความสามารถ ” ตามาตรา 1(12) หมายความว่า บุคคลใดๆ ซึ่งไม่มีความสามารถทางกฎหมาย หรือความสามารถถูกจำกัด โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถ
ข้อสังเกต
1. ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
1. ผู้เยาว์
2. คนวิกลจริต
3. คนไร้ความสามารถ
4. คนเสมือนไร้ความสามารถ
5. สามีหรือภริยาเกี่ยวด้วยสินสมรส
6. บุคคลล้มละลาย
1. การเข้ามาเป็นคู่ความของบุคคลเหล่านี้ จะต้องมีผู้ทำการแทน หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ
ตามกฎหมายก่อน หรือบางฐานะอาจจะเป็นได้โดยได้รับอนุญาตจากศาลหรือได้รับอนุญาตจากผู้กำกับดูแล
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
13. “ ผู้แทนโดยชอบธรรม ” ตามมาตรา 1(13) หมายความว่า บุคคลซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิที่จะทำการแทนผู้ไร้ความสามารถ หรือบุคคลที่ต้องให้คำอนุญาตหรือตามยินยอมแก่ผู้ไร้ความสามารถ ในอันที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
14. “ เจ้าพนักงานบังคับคดี ” ตามมาตรา 1(14) หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดี หรือพนักงานอื่นผู้ที่มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิคู่ความในระหว่างพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ข้อสังเกต
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ 2 ช่วงคือ
1. ช่วงที่ดำเนินการระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
2. ช่วงที่ดำเนินการในการบังคับคดี เพื่อเป็นไปตามคำพิพากษาในกรณีที่คำพิพากษานั้นต้องมีการบังคับคดี เช่น พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ แล้วจำเลยไม่ชำระ จึงจำเป็นต้องบังคับคดี
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
ฎ. 1663/2598 โจทก์ขอให้ศาลสั่งให้ตำรวจท้องที่รักษาข้าวในนาที่โจทก์นำยึดไม่ได้ เพราะตำรวจไม่ใช่เจ้าพนักงานบังคับคดี
ฎ. 234/2506 เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาล
☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼
ลักษณะ 2 ศาล
ประกอบไปด้วยเนื้อหาที่สำคัญในการสอบ 3 หมวด ดังต่อไปนี้
หมวด 1 เขตอำนาจศาล
หมวด 3 อำนาจและหน้าที่ของศาล
หมวด 4 การนั่งพิจารณา
โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
หมวด 1 เขตอำนาจศาล
คำว่า “เขตอำนาจศาล” นั้น นอกจากจะพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว จะต้องพิจารณาตามกฎหมายเรื่องพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย
ความแตกต่างระหว่าง คำว่า “เขตอำนาจศาล”ของหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมก็คือ
- กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ หลักที่กำหนดว่าจะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลใด
- กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คือ หลักที่กำหนดอำนาจของแต่ละศาล ในการพิจารณาพิพากษาคดี
เขตอำนาจศาล มีเรื่องที่สำคัญ ในการสอบ ดังนี้คือ
1. การเสนอคำฟ้อง (ตามคำนิยามใน มารตรา1(3)) ตามต่อศาล (มาตรา 2)
2. การกำหนดเขตอำนาจของศาลแพ่ง และกำหนดภูมิลำเนาพิเศษของจำเลย (มาตรา 3)
3. การฟ้องคดีทั่วไปโดยถือหลักภูมิลำเนา และมูลคดี (มาตรา4)
4. การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ (มาตรา 4 ทวิ)
5. การฟ้องคดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร (มาตรา 4 ตรี)
6. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยเฉพาะ (มาตรา 4 จัตวา)
7. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคลโดยเฉพาะ (มาตรา 4 เบญจ)
8. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะต้องจัดการในราชอาณาจักร แต่มูลคดีมิได้เกิดในราชอาณาจักร และ ผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร (มาตรา 4 ฉ)
9. ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นหลายศาล (มาตรา 5
10. การโอนคดี (มาตรา 6 )
11. การฟ้องคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม (มาตรา 7)
12. กรณีที่ไม่สามารถดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจ (มาตรา 10)
โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
1. การเสนอคำฟ้อง (ตามคำนิยามใน มารตรา1(3)) ต่อศาล (มาตรา 2)
หลักกฎหมาย มาตรา 2 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เสนอคำฟ้องต่อศาลใด เว้นแต่
(๑) เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลแล้ว ปรากฎว่า ศาลนั้มีอำนาจที่จะพิจารณา
พิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และ
(๒) เมื่อได้พิจารณาถึงคำฟ้องแล้ว ปรากฎว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวล
กฎหมายนี้ ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วย ”
ข้อสังเกต
1. การเสนอคำฟ้อง มีข้อพิจารณา อยู่ 4 ประการคือ
1. สภาพแห่งคำฟ้อง หมายถึง สภาพของคดีหรือลักษณะของคดีที่โจทก์ประสงค์จะบังคับ หรือขอให้รับรองว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ ถ้ามีทุนทรัพย์แล้วทุนทรัพย์ที่เรียกร้องมาเป็นจำนวนเท่าใด
2. ชั้นของศาล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
3. อำนาจศาล จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของอำนาจผู้พิพากษา อำนาจของศาลตามพระธรรมนูญศาล
ยุติธรรม และตามบทบัญญัติการจัดตั้งศาลพิเศษต่างๆ
4. เขตศาล หมายถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ศาลนั้นจะมีอำนาจได้ตามที่กำหนดไว้ในเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่ง
มาตรา 15 ได้บัญญัติไว้เป็นหลักว่า ห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจนอกเขตศาล
เมื่อพิจารณา 4 ข้อนี้แล้วจึงพิจารณาถึงศาลที่จะยื่นฟ้องได้ตาม มาตรา 3 – 4 ฉ เพราะมาตรา 2 นี้เป็นหลักทั่วไป
2. สภาพแห่งคำฟ้อง มีความสำคัญต่อการเสนอคำฟ้องตรงที่ เป็นการพิจารณาว่าคดีนั้นจะ
1) อยู่ในอำนาจศาลแขวง หรือ ศาลจังหวัด
2) เสนอต่อชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้หรือไม่
3. การเสนอคดีหรือฟ้องคดีครั้งแรกนั้นจะต้องเริ่มที่ศาลชั้นต้นตามมาตรา 170 ว.1
ตัวอย่างฎีกา
ฎ.1320/2517 คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารจะฟ้องที่ศาลพลเรือนไม่ได้ หมายความว่า อำนาจของศาลทหารก็เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารหรือวิธีพิจารณาศาลทหาร
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
2. การกำหนดเขตอำนาจของศาลแพ่ง และกำหนดภูมิลำเนาพิเศษของจำเลย (มาตรา 3)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
(๑) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีอำนาจ
(๒) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
(ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มาการเสนอคำ
ฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
(ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักร ไม่ว่าโดยตน
เองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย ”
ข้อสังเกต
1. จะนำบทบัญญัติในมาตรา 3 นี้ไปใช้กับกรณีอื่นไม่ได้ หรือนำไปใช้ในความหมายของภูมิลำเนาในกรณีอื่นไม่ได้ เพราะมาตรานี้มุ่งเพื่อจะให้การเสนอคำฟ้องสามารถทำได้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น
2. มาตรา 3 นี้เป็นสิทธิที่เพิ่มเติมสิทธิที่จะฟ้องคดีได้ตามบททั่วไปในมาตรา 4 คือ ถ้ากรณีต้องทั้งมาตรา 3 และ 4 จะใช้มาตรา 3 หรือ 4 ก็ได้
ตัวอย่างฎีกา
ฎ. 6437/2541 จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักร โดยจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่ง จึงถือได้ว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ในการติดต่อดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
3. การฟ้องคดีทั่วไปโดยถือหลักภูมิลำเนา และมูลคดี (มาตรา 4)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(๑) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
(๒) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ”
ข้อสังเกต
1. คำว่า “ภูมิลำเนา” มีความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 37-47
2. ภูมิลำเนาของนิติบุคคล ให้ถือเอาสำนักงาน หรือสำนักงานแห่งใหญ่ซึ่งอยู่ภายในเขตศาลที่จะยื่นฟ้องคดี หรือคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา (ป.ว.พ.มาตรา 68)
3. ผู้ที่ถูกจำคุก ให้ถือว่าเรือนจำหรือฑัณฑสถานเป็นภูมิลำเนา แต่ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดตาม
ป.ว.พ. มาตรา 146
4. แจ้งย้ายสำมะโนครัว แต่ไม่ได้ย้ายไปจริง สามารถฟ้องที่ภูมิลำเนาเก่าหรือใหม่ก็ได้ (ฎ.181/2521)
5. คำว่า “มูลคดี” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้อง หรือเหตุแห่งการฟ้อง เช่น ทำสัญญาที่ไหน ผิดสัญญาที่ไหน ละเมิดที่ไหน เหตุแห่งการฟ้องนี้ บางกรณีอาจจะเกิดขึ้นในแห่งเดียวกัน หรืออาจจะเกิดขึ้นได้หลายสถานที่ต่างกันก็ได้ และแต่ละที่นั้นก็ถือเป็นสถานที่มูลคดีเกิดทั้งสิ้น
6. สัญญาระหว่างบุคคลที่อยู่ห่างโดยระยะทาง สัญญาเกิดขึ้นเมื่อคำสนองไปถึงผู้เสนอ จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ภูมิลำเนาของผู้เสนอ(ฎ.2586/2523)
7. สัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือและต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย แต่คู่สัญญาลงลายมือชื่อคนละแห่งกัน ก็ให้ถือว่าสถานที่ทั้งสองแห่งเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิด(ฏ.2586/2540)
8. ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค ถือว่าสถานที่ที่มูลคดีเกิดได้แก่ สถานที่จ่ายเช็ค, สถานที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน, และสถานที่ที่สัญญาตามมูลหนี้เช็คเกิดขึ้นด้วย (ฎ.3818/2538)
9. สัญญาที่แยกต่างหากจากกัน เช่น สัญญาค้ำประกัน เพื่อค้ำประกันให้สัญญาเช่าซื้อ หากทำสัญญาต่างสถานที่กัน ถือว่ามูลคดีต่างกันด้วย (ฎ.6933/39)
10. ระวัง คำว่า “มูลหนี้ ”กับ “มูลคดี” ไม่เหมือนกัน เพราะ มูลคดีมีความหมายกว้างกว่ามูลหนี้
11. ในกรณีที่เสนอคำฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
ตัวอย่างฎีกา
ฎ.881/41 จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่เชียงใหม่และกรุงเทพ ขึ้นล่องไปมาเป็นประจำ ถือว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง โจทก์จะถือเอาแห่งใดเป็นภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อยื่นฟ้องก็ได้
ฎ.2786/2540 ฟ้องคดีละเมิด โดยจำเลยขายรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรส 2 คัน คันแรกขายที่เชียงใหม่ อีก 1 ปีต่อมาขายคันที่ 2 ที่ตาก ดังนั้น กรณีคันที่ 2 จะฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ เพราะสัญญาทำกันคนละปี มูลคดีอันเป็นต้นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิมิใช่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
4. การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ (ข้อยกเว้นมาตรา 4) (มาตรา 4 ทวิ)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 ทวิ บัญญัติว่า “คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ”
ข้อสังเกต
1. มาตรานี้หมายถึงคำฟ้องที่มีลักษณะดังนี้
1. คำฟ้องที่โจทก์มุ่งหมายจะบังคับเอากับอสังหาริมทรัพย์ชิ้นใดโดยเฉพาะ ได้แก่ การฟ้องเรียกตามเอกเทศสัญญาต่างๆ เช่น ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก เช่น คำฟ้องบังคับให้โอนที่ดิน เป็นต้น
2. คำฟ้องที่จะต้องพิเคราะห์ถึงความเป็นอยู่ของอสังหาริมทรัพย์ชิ้นใดโดยเฉพาะ
เช่น คำฟ้องที่เจ้าหนี้บังคับจำนองที่ดินที่ลูกหนี้นำมาจำนอง(เฉพาะกรณีที่เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับจำนองแล้ว) เพราะศาลต้องพิจารณาถึงสิทธิบังคับจำนอง และเมื่อศาลพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะ ก็จะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์(ฎ.380/2532) , คำฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกจากที่ดิน(ฎ.1173/2518)
แต่กรณีฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และขอให้ไถ่ถอนจำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เป็นหนี้เหนือบุคคล ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะมิใช่เป็นการฟ้องบังคับจำนองที่เกี่ยวกับตัวที่ดินโดยตรง (ฎ.2245/2526)
2. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้น ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 กรณีคือ
1. คำฟ้องเกี่ยวกับการขอให้บังคับตามสัญญา คือการให้โอนที่ดินให้ผู้จะซื้อ ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์(ฎ.1115/2523)
2. คำฟ้องเกี่ยวกับการเรียกเงินค่าขายที่ดิน ค่าซื้อที่ดิน เงินมัดจำ ค่าเสียหาย ค่านายหน้า ถือเป็นคำฟ้องที่ไม่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์เพราะไม่ได้บังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดิน(ฎ.1233/2506,2334/2517,2256/2521,955/2537,คสคร.77/2519)
3. คำ ฟ้องเรียกค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ แม้จะมุ่งบังคับเอาเงินค่าเช่า แต่ค่าเช่าเป็นประโยชน์ คือ ดอกผล อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะเจาะจง (อย่าสับสนกับกรณีสัญญาจะซื้อจะขายข้างต้น) จึงเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
4. คำฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด(บุกรุกที่ดิน)และห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิในที่ดินของโจทก์ต่อไป แม้ค่าเสียหายฐานละเมิดจะเป็นหนี้เงิน คำฟ้องนี้ก็ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (ฎ.1173/2518)
5. ฟ้องเรียกที่ดินคืน ไม่ว่ากรณีใดๆ ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น
6. ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดเพราะทำให้โจทก์ต้องเสียที่ดิน เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แม้โจทก์มิได้มีคำขอที่จะบังคับแก่ที่พิพาท แต่การพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเคยเป็นของโจทก์หรือไม่ เป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์
7. หากฟ้องค่าเสียหายฐานละเมิดเพราะบุกรุกที่ดินอย่างเดียว ไม่ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
8. คำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิยึดหน่วงใบโฉนดที่ดิน ไม่ใช่คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์(ฎ.1428-29/2514)
ตัวอย่างฎีกา
ฎ. 1783/2527(ประชุมใหญ่) โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียที่ดินของโจทก์ไป จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ ไม่ใช่ของโจทก์ และจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้มิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย และคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอบังคับแก่ที่ดินพิพาท แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
ฎ. 683/2534 โจทก์ฟ้องเรียกมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนกับเรียกค่าเสียหาย เพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการฟ้องขอให้บังคับตัวจำเลย ซึ่งเป็นหนี้เหนือบุคคล ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับตัวทรัพย์
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
5. การฟ้องคดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร(มาตรา 4 ตรี)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 ตรี บัญญัติว่า “คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้ ”
ข้อสังเกต
1. มาตรา 4 ตรี นี้ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวด้วยการเสนอคำฟ้อง ที่นอกเหนือจากหลักทั่วไป ตามมาตรา 4 เหมือนมาตรา 4 ทวิ แต่ต่างกับมาตรา 4 ทวิ ตรงที่มาตรา 4 ตรี เป็นคดีที่ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
2. มาตรานี้เป็นประโยชน์แก่โจทก์มาก เพราะไม่ต้องนำคดีไปฟ้องที่ศาลต่างประเทศ
3. กรณีที่โจทก์มีสัญชาติไทยแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอีก ก็ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งได้
4. สรุป ศาลที่จะยื่นฟ้องได้ตามมาตรานี้คือ 1. ศาลแพ่ง 2.ศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ 3. ศาลที่ทรัพย์สินจำเลยตั้งอยู่
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
6. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยเฉพาะ (มาตรา 4 จัตวา)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 จัตวา “ คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ใน
เขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล ”
ข้อสังเกต
1. มาตรานี้ เป็นการเสนอคำร้อง ที่เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 4(2) กล่าวคือ เป็นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยเฉพาะ
2. มาตรานี้เป็นประโยชน์แก่เจ้ามรดก ที่มีทายาทและทรัพย์มรดกกระจัดกระจายอยู่หลายเขตอำนาจศาล แต่ได้ถึงแก่ความตายในเขตอำนาจศาลใดศาลหนึ่ง
3. สรุป ศาลที่จะเสนอคำร้องตามมาตรานี้ได้ มี 2 ศาลคือ
1.ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล ในขณะถึงแก่ความตาย
2. กรณีที่เจ้ามรดกไม่อยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ ได้พียงศาลเดียว
ตัวอย่างฎีกา
ฎ. 5912/39 แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและถึงแก่ความตาย ที่จังหวัดพิจิตรแต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องถึง 20 ปี ที่ จังหวัดสมุทรปราการและได้ซื้อที่ดินที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย แสดงว่าผู้ตายมีบ้านอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็น แหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็น ภูมิลำเนาของผู้ตาย ผู้ร้องมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ของผู้ตายต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
7. มาตรา 4 เบญจ การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคลโดยเฉพาะ
หลักกฎหมาย มาตรา 4 เบญจ “คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล ”
ข้อสังเกต
1. สาเหตุที่มีมาตรานี้คือ เนื่องจากคำร้องขอเหล่านี้อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อบุคคลหลายฝ่าย ถ้ามีผู้ร้องหลายคนก็อาจเสนอคำร้องต่อศาลได้หลายศาล
2. มาตรานี้ เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 4 (2)
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
8. มาตรา 4 ฉ การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะต้องจัดการในราชอาณาจักร
แต่มูลคดีมิได้เกิดในราชอาณาจักร และ ผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
หลักกฎหมาย มาตรา 4 ฉ “คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิกจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี ซึ่งมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในเขตศาล ”
ข้อสังเกต
มาตรานี้เป็นมาตราที่อำนวยความสะดวกแก่กรณีที่มูลคดีมิได้เกิดในราชอาณาจักร และ ผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร (เป็นทางออกของมาตรา 4(2))
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
9. มาตรา 5 ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นหลายศาล
หลักกฎหมาย มาตรา 5 “คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอ ต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”
ข้อสังเกต
1. “มูลความแห่งคดี” คือ มูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีเกี่ยวข้องกันเท่านั้น ไม่ต้องถึงขนาด ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้
2. กรณีจำเลยหลายคนมีภูมิลำเนาต่างกัน โจทก์ฟ้องจำเลยทุกคนต่อศาลที่จำเลยคนหนึ่งคนใดมีภูมิลำเนาแล้ว แม้ต่อมาโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น ศาลก็ยังพิจารณาคดีจำเลยอื่นในเขตอำนาจศาลนั้นต่อไปได้ (ฎ.2403/2523)
ตัวอย่างฎีกา
ฎ. 2586/40 สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ลง ลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้ว แต่ยังไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่าย ผู้ให้เช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ เมื่อมีการส่งสัญญาดังกล่าวไปให้ผู้มี อำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ของ โจทก์เพื่อให้สัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ ย่อมถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่ ทำสัญญาฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานใหญ่ของ โจทก์ตั้งอยู่ในท้องที่เขตปทุมวันซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดในมูลความแห่งคดี เกี่ยวข้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ( 1 ) และมาตรา 5
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
10. มาตรา 6 การโอนคดี
หลักกฎหมาย มาตรา 6 “ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ขอให้โอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ คำร้องนั้นจำเลยต้องแสดงเหตุที่ยกขึ้นอ้างอิงว่าการพิจารณาคดีต่อไปในศาลนั้นจะไม่สะดวก หรือจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้
ห้ามมิให้ศาลออกคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ศาลที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอม ก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด”
ข้อสังเกต
1. มาตรานี้เป็นสิทธิของจำเลย
2. ศาลที่ขอโอนไปต้องเป็นศาลที่มีเขตอำนาจด้วย
3. จำเลยต้องขอก่อนยื่นคำให้การ
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
11. มาตรา 7 การฟ้องคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม
หลักกฎหมาย มาตรา 7 “บทบัญญัติในมาตรา ๔ มาตรา ๔ ทวิ มาตรา ๔ ตรี มาตรา ๔ จัตวา มาตรา ๔ เบญจ มาตรา ๔ ฉ มาตรา ๕ และมาตรา ๖ ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ดังต่อไปนี้
(๑) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(๒) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ซึ่งคำฟ้อง
หรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา ๓๐๒
(๓) คำร้องตามมาตรา ๑๐๑ ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้ว ให้เสนอต่อศาลนั้น ในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้องตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(๔) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาต หรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่งการอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น”
ข้อสังเกต
1. การฟ้องคดีตามมาตรานี้ ไม่ใช่เป็นการเริ่มคดีใหม่ แต่เป็นการเริ่มคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม
2. มาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อไม่ให้คดีเกิดความสับสน เพราะหากเกิดคำฟ้องใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม แต่ไม่ฟ้องที่ศาลเดิม ศาลที่รับคดีใหม่ไว้จะไม่รู้เรื่องราวของคดีเดิมว่ามีความเป็นมาอย่างไร
3. ข้อสังเกตมาตรา 7 นี้แยกได้ดังนี้
1) กรณีอนุมาตรา (1)
- “เกี่ยวเนื่อง” หมายความว่า เกี่ยวเนื่องเป็นคดีเดี่ยวกัน หรือเป็นเรื่องติดต่อกัน
- ตัวอย่างได้แก่ คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง คำร้องสอด คำฟ้องแย้ง ฯลฯ เป็นต้น
- กรณีฟ้องแย้ง นั้นต้องพิจารณาถึงอำนาจศาลตามหลักกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย หากคดีที่ฟ้องแย้งเกินอำนาจศาลเดิมแล้ว ก็ฟ้องแย้งในคดีที่ศาลเดิมไม่ได้ ต้องฟ้องแบบเริ่มคดีใหม่
2) กรณีอนุมาตรา (2)
- ตัวอย่างได้แก่ การร้องขัดทรัพย์ การขอเฉลี่ยทรัพย์ การร้องขอกันส่วน ฯลฯ เป็นต้น
- ในทางปฏิบัติเรียกว่า “ สาขาคดี ” ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในชั้นบังคับคดี
- การพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์ ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องเดิมที่ฟ้องจำเลย แม้คดีร้องขัด
ทรัพย์ จะมีทุนทรัพย์เกินอำนาจศาล ก็มีอำนาจที่จะพิจารณาและมีคำสั่งได้ (ฎ.901/2511) ซึ่ง
แตกต่างกับการฟ้องแย้งตามอนุ (1)
- การยื่นคำร้องเหล่านี้ จะยื่นที่ศาลที่พิพากษาคดีหรือศาลที่บังคับคดีแทนก็ได้ (มาตรา 302)
- อย่าสับสนกับกรณีขอให้เพิกถอนการบังคับคดีหรืองดการบังคับคดี เพราะกรณีนี้ต้องร้องที่
ศาล ที่ออกหมายบังคับคดีเท่านั้น (ตามหลักเรื่องการของดบังคับคดี)
ตัวอย่างฎีกา กรณีอนุมาตรา (2)
ฎ. 6111/40 คำฟ้องของโจทก์กล่าวถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และผิดสัญญาในการออกค่าธรรมเนียม เมื่อพิจารณาสัญญาที่ทำต่อกันแล้วเห็นได้ ชัดเจนว่า การที่จำเลยสัญญาว่าจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิการเช่าตึก 7 ชั้น คืนให้แก่โจทก์นั้น มิได้แยกต่างหากจากสัญญาประนีประนอมยอมความหรือก่อให้เกิดหนี้โดยปราศจากเงื่อน ไขใด ๆ หากแต่เป็นการยอมรับภาระในหนี้ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่า โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องผ่อนชำระหนี้ให้ครบจำนวนหนี้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีจึงจำเป็นต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วย ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วหรือไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงนับได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และคำฟ้องนี้จำต้องให้ศาลวินิจฉัยเสียก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง ดังนั้น คำฟ้องคดีนี้จึงต้องเสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี หรือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7(2) และ มาตรา 302 วรรคหนึ่ง
3) กรณีตามอนุมาตรา (4)
- ตัวอย่าง ได้แก่ คำร้องขอถอดถอนผู้จัดการมรดก ถอดถอนผู้อนุบาล ขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ เป็นต้น
- ในทางปฏิบัติ ต้องดำเนินการตรวจสอบเลขคดีของคดีเดิมก่อน แล้วจึงเลขดังกล่าวระบุในคำร้องนั้นด้วย
ตัวอย่างฎีกา กรณี (4)
ฎ.811/2538 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันกับศาลที่มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนไร้ความสามารถ และอยู่ในความอนุบาลของผู้คัดค้าน ทั้งได้อ้างในคำร้องซึ่งเป็นรายละเอียดในคดีดังกล่าวแนบคำร้องและคำสั่งศาลมาพร้อม และมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แม้จะมีการลงเลขคดีดำใหม่ในคำร้องขอ ก็เป็นเพียงทางปฏิบัติทางธุรการของศาล ถือว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7(4)แล้ว
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
12. มาตรา 10 กรณีที่ไม่สามารถดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจ
หลักกฎหมาย มาตรา 10 “ ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย คู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้นจะยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้ และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ”
ข้อสังเกต
1. คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ในที่นี้มีความหมายกว้างกว่าเหตุสุดวิสัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 8 กล่าวคือ มีความหมายว่า เหตุอะไรก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจ แม้ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ ก็นับว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (ฎ.695/2509)
2. กระบวนพิจารณาต่างๆในศาลอุทธรณ์และฎีกา สามารถนำมาตรานี้มาใช้บังคับได้โดยอนุโลม เช่น การยื่นอุทธรณ์ เป็นต้น (ฎ.967/2494)
3. มาตรา 10 และ มาตรา 23 เป็นกรณีที่ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทันเหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างกันคือ
• มาตรา 10 เป็นกรณีที่ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทัน จึงขอดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้น ส่วน มาตรา 23 เป็นกรณีที่ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทันเหมือนกัน แต่เป็นเฉพาะกรณีขอย่นหรือขยายระยะเวลาตามที่กำหนดใน ป.ว.พ.เท่านั้น
• มาตรา 10 คู่ความเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ ส่วน มาตรา 23 ศาลอาจเห็นสมควรเอง หรือ คู่ความเป็นผู้ร้องขอ ก็ได้
• มาตรา10 ร้องขอที่ศาลอื่น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นได้ ส่วน มาตรา 23 ต้องร้องขอในศาลเดิมเท่านั้น
เช่น กรณีจำเลยการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดตาก ซึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทนศาลจังหวัดน่าน ปรากฏว่าศาลจังหวัดตากมีคำสั่งยกคำร้องนั้น จำเลยจึงอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดตาก แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยจึงขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาโดยยื่นที่ศาลจังหวัดน่าน แต่การขอนี้เป็นการขอขยายระยะเวลาตามมาตรา 23 ไม่ใช่กรณีไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทันตามมาตรา 10 ดังนั้น จำเลยจะต้องยื่นที่ศาลจังหวัดตากตามมาตรา 229,247 แต่กรณีนี้จำเลยได้ยื่นต่อศาลจังหวัดน่านจึงไม่ชอบตามมาตรา 23 ทั้งปรากฎว่าจำเลยมิได้ระบุเหตุขัดข้องแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทัน ตามมาตรา 10 ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาต่อศาลจังหวัดอุดรธานี
4. การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่รับคำร้องนั้น มีอำนาจเพียงดำเนินการให้เป็นไปตามความยุติธรรม ไม่มีอำนาจเกินศาลเดิม เช่น หากคู่ความยื่นคำร้องหรือคำคู่ความใดมา ศาลที่จะสั่งคำร้องหรือคำคู่ความนั้นต้องเป็นศาลเดิมเท่านั้น ศาลที่รับคำร้องตามมาตรา 10 จะสั่งไม่ได้
5. ผลของการยื่นคำร้องตามมาตรา 10 คือ เมื่อศาลนั้นมีคำสั่งรับดำเนินการอย่างใดให้แล้ว มีผลเท่ากับคู่ความได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลที่มีเขตอำนาจทุกประการ
ตัวอย่างฎีกา
ฎ.1644/2519 (ประชุมใหญ่) วันนัดสืบพยานโจทก์ อันเป็นนัดแรก ทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดอื่น และแพทย์ให้ความเห็นว่าสมควรพักรักษาตัวจริง ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนต่อศาลชั้นต้นที่ทนายโจทก์ป่วยอยู่เมื่อเวลา 10.00 น. ซึ่งยื่นหลังจากเวลา 9.00 น.ที่นัดไว้ และศาลเดิมรออยู่จน 10.05 น. จึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดี ดังนี้ จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณามิได้ เพราะกรณีดังกล่าว ถือว่าโจทก์ได้ขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานแล้ว (ตามมาตรา 10)
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
ขอบคุณมากนะคะ
ตอบลบอยากได้ลักษณะที่ 5 ครับ
ตอบลบขอบคุณครับ
ขอบคุณมากๆค่ะ
ตอบลบว่างๆขอลักษณะ3ด้วยนะคะ
ขอบคุณมากคะ
ตอบลบขอบคุณนะคะ สรุปย่อของท่าน มีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ มากๆ ค่ะ ดิฉันสอบผ่านก็เพราะคุณมีส่วนร่วมในความสำเร็จนะคะ
ตอบลบกราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ ที่ได้ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายและผู้สนใจและนักศึกษาค่ะ ขอให้อาจารย์นำสรุปบทต่อๆไปมาลงเพิ่มอีกค่ะ จะเข้ามาติดตามต่อเนื่องค่ะ และอนุโมทนาบุญกับอาจารย์ด้วยค่ะ ในการให้ความรู้เป็นวิ่ทยาทาน สาธุๆๆ
ตอบลบมีภาค2ด้วยมั่ยคะ
ตอบลบ