วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สรุป กฎหมาย ป.วิ แพ่งภาค1

สรุป กฎหมาย ป.วิ แพ่งภาค1


วิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกฎหมายประเภทวิธีสบัญญัติ ที่วางวิธีปฏิบัติต่างๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งทั้งปวง เริ่มตั้งแต่การฟ้องคดีจนถึงการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
คดีแพ่งนั้น มี 2 ประเภทตาม มาตรา 55 คือ
1. คดีมีข้อพิพาท เป็น คดีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย และเริ่มต้นคดีประเภทนี้โดยการเสนอ “คำฟ้อง”
2. คดีไม่มีข้อพิพาท เป็นคดีที่บุคคลต้องการใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ต้องร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตก่อน และเริ่มต้นคดีประเภทนี้โดยการเสนอ “คำร้องขอ”
โดยทั่วไปเนื้อหาหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมี 4 ภาค ตามลำดับดังนี้
ภาค 1 บททั่วไป
ภาค 2 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
ภาค 3 อุทธรณ์และฎีกา
ภาค 4 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาและการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
แต่ในสรุปนี้จะอธิบายถึงเนื้อหาที่สำคัญในการสอบตาม ภาค 1 เท่านั้นดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ภาค 1 บททั่วไป
เป็นบทที่บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหา 6 ลักษณะดังนี้
ลักษณะ 1 บทวิเคราะห์ศัพท์
ลักษณะ 2 ศาล
ลักษณะ 3 คู่ความ
ลักษณะ 4 การยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร
ลักษณะ 5 พยานหลักฐาน
ลักษณะ 6 คำพิพากษาและคำสั่ง
แยกศึกษาตามหัวข้อได้ดังนี้ คือ

ลักษณะ 1 บทวิเคราะห์ศัพท์
เป็นลักษณะที่บัญญัติถึงความหมายของคำศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง เพื่อให้มีความเข้าใจและการตีความกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนี้ ได้อย่างถูกต้องตรงกัน โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 1 ซึ่งมีทั้งหมด 14 คำดังนี้
1. “ ศาล ” ตามมาตรา 1(1) หมายความว่า ศาลยุติธรรม(สถานที่) หรือ ผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณา
พิพากษาคดีแพ่ง
ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ.5449/2531 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ แม้ต่อมาศาลในคดีดังกล่าวจะยกคำร้อง แต่ก็เพื่อให้ผู้ร้องมายื่นคำร้องใหม่ให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องเท่านั้น หาทำให้คำร้องที่ยื่นไว้ต่อศาลโดยชอบแล้วข้างต้นเสียไปไม่ เพราะเมื่อคำร้องครั้งแรกยื่นภายในระยะเวลาตามกฎหมาย แม้จะมายื่นคำร้องอีกครั้งเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด ต้องถือว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว เพราะศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยื่นครั้งแรกกับครั้งที่สอง เป็นการยื่นต่อศาลเดียวกัน
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


2. “ คดี ” ตามมาตรา 1 (2) หมายความว่ากระบวนพิจารณาตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาล เพื่อให้รับรองคุ้มครองบังคับหรือเพื่อการใช้สิทธิหรือหน้าที่

ข้อสังเกต
 1. ความหมายของมาตรานี้ เกี่ยวข้องกับอำนาจของทนายความ,ผู้รับมอบอำนาจคดี คือถ้าเขาดำเนินการเกี่ยวกับคดีเรื่องใดแล้ว เขาก็สามารถหรือมีอำนาจที่จะดำเนินคดีในเรื่องนั้นๆ ได้ตลอดไป และทุกขั้นตอนของการดำเนินคดี
 2. ไม่มีกำหนดเวลาว่าจะจบสิ้นเมื่อใด กล่าวคือ การดำเนินคดีจะต้องมีไปจนกว่าผู้ฟ้องหรือผู้ร้องได้รับผลตามที่ตนขอบังคับ หรือตามที่ตนร้องขอไว้

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 581/2506 การที่ทนายโจทก์ในคดีเดิมใช้สิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีอื่น สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องแต่งทนายเข้ามาในคดีที่ขอเฉลี่ยทรัพย์นั้นอีก
 ฎ. 4621/2530 โจทก์ฟ้องคดดีอาญาโดยมอบให้ ช.ดำเนินคดีแทน ในหนังสือมอบอำนาจระบุว่า ให้ ช.เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญากับจำเลย โดยให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ได้ ดังนั้น คำว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนย่อมหมายความว่า ให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลนั่นเอง หาได้มีแต่อำนาจร้องทุกข์เท่านั้นไม่ ผู้รับมอบอำนาจ(ช.)จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


3. “ คำฟ้อง ” ตามมาตรา 1(3) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล
1) ไม่ว่าจะเสนอด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือ
2) ไม่ว่าจะเสนอต่อศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา
3) ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะเริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติม หรือแก้ไข หรือฟ้องแย้ง หรือร้องสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่

ข้อสังเกต
 1. จากบทนิยามนี้ คำฟ้องจึงมีอยู่ 6 ประเภท โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ก. ช่วงที่เสนอในขณะเริ่มคดี ได้แก่
(1) คำฟ้อง (คดีมีข้อพิพาท)
(2) คำร้องขอ (คดีไม่มีข้อพิพาท)
ข. ช่วงที่เสนอในภายหลังเริ่มคดี
(3) คำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข
(4) คำฟ้องแย้ง
(5) คำร้องสอดเข้ามาในคดี ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ
(6) คำขอให้พิจารณาใหม่
 2. ถ้าเป็นกรณีที่คู่ความเดิมยื่นคำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาตามมาตรา 57(3) คำร้องนี้ไม่ใช่คำร้องสอด เพราะไม่ใช่การเสนอข้อหาใดๆต่อศาล ดังนั้น จึงไม่ถือเป็นคำฟ้องหรือคำคู่ความ

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 2588/2522 จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ คำสั่งนั้นไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามมาตรา 226(2) เพราะ คำร้องอย่างนี้ไม่ใช้คำฟ้องหรือคำคู่ความที่จะสามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้
 ในมาตรา 1(3)นี้ บัญญัติไว้เพียงเพื่อให้เรารู้ว่า อะไรคือคำฟ้องเท่านั้น ส่วนคำฟ้องแต่ละประเภทนั้น มีหลักเกณฑ์อย่างไรต้องดูตามบทบัญญัติของแต่ละเรื่องไป เช่น คำฟ้องเมื่อเริ่มคดี ต้องดูตามมาตรา 172 วรรค 2 เป็นต้น

 3. คำฟ้องในศาลชั้นต้น กับคำฟ้องอุทธรณ์ฎีกานั้น มีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน เพราะคำฟ้องในศาลชั้นต้นนั้นเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลย (โจทก์กล่าวหาจำเลย ) แต่คำฟ้องอุทธรณ์ฎีกานั้นผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาได้กล่าวหาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ว่าชี้ขาดคดีโดยมีข้อบกพร่อง

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 821/2511(ประชุมใหญ่) คำขอพิจารณาใหม่ไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายขอ ถือว่าเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3)
 ฎ. 1363/2514 คำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนการยึด ถือเป็นคำฟ้อง ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามราคาที่ยึด เพราะเข้าหลักการของคำฟ้องคือ มีข้อกล่าวหาและมีคำขอบังคับ
 ฎ.6/2516 จำเลยให้การและฟ้องแย้งเข้ามา โดยฟ้องแย้งของจำเลยขอให้ตั้งผู้ตรวจบัญชีและเอกสารของธนาคารโจทก์ เพื่อแสดงผลความรับผิดชอบว่าใครเป็นหนี้ใครเท่าไร ไม่ใช่เป็นการข้อเสนอข้อหาต่อศาล จึงไม่ถือว่าเป็นฟ้องแย้ง เพราะคำว่ากล่าวหานั้น ต้องมีคำขอบังคับ หรือมีสภาพบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิบัติโดยอาศัยอำนาจของศาล
 ฎ. 2964/2522 คำร้องขอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่เป็นคำฟ้อง ต้องอยู่ในบังคับ มาตรา172 ด้วย
 1447/2530 คำร้องสอดของผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (1)เป็นคำฟ้อง จึงต้องอยู่ในบังคับมาตรา 172 ด้วย มิฉะนั้นจะเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบ
 ฎ. 1936/2530 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง มีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลจะสั่งในระหว่างพิจารณา ก็อุทธรณ์ทันที่ได้
 43/2538 การที่ผู้ร้องสอด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความ อ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นบุตรของเจ้ามรดก จึงมีสิทธิรับมรดก ส่วนโจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม จึงไม่มีสิทธิรับมรดกนั้น… แม้คำขอท้ายฟ้องระบุว่าขอเป็นจำเลยร่วมโดยหลงผิด ก็ถือว่าได้เป็นการร้องขอตามมาตรา 57 (1) และคำร้องขอดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นคำขอบังคับอยู่ในตัว ประกอบกับผู้ร้องสอดมิได้เรียกร้องอะไร เพียงแต่ขอให้ยกฟ้อง จึงไม่จำต้องมีคำบังคับโดยชัดแจ้งในคำร้องสอดอีกก็ถือเป็นคำฟ้องที่ถูกต้องตาม มาตรา 172 แล้ว
 1935/2540 โจทก์ร้องสอดเข้ามาในคดีเดิม ซึ่งมีการขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับคดีแล้ว คำร้องสอดของโจทก์นั้นก็ถือเป็นคำฟ้องแล้ว ถึงแม้ว่าศาลจะยกฟ้องแล้วโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยืน โจทก์ฎีกา ก็ถือว่ามีคำฟ้องของโจทก์อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา เมื่อโจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่อีก ก็ถือว่าเป็นการฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 173
 ฎ.4686/2540 คำแถลงการณ์ไม่ใช่คำฟ้องอุทธรณ์ โจทก์จะตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ตามคำแถลงการณ์ไม่ได้ เมื่อไม่ได้กล่าวประเด็นใดในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ ( คำแถลงการณ์นั้นจะนำมาตั้งประเด็นไม่ได้ คำแถลงการณ์เป็นเพียงคำอธิบายเท่านั้น )
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


4. “ คำให้การ ” ตามมาตรา 1(4) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์

ข้อสังเกต
 1. แม้ในคำนิยามนี้จะใช้คำว่าฝ่ายหนึ่งยกเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องปฏิเสธข้ออ้างเสมอไปจึงจะถือว่าเป็นคำให้การ เพราะในกรณีที่รับตามฟ้องก็ถือว่าเป็นคำให้การเหมือนกัน โดยพิจารณาจากมาตรา 177 วรรค 2
 2. คำให้การในที่นี้หมายถึง กระบวนพิจารณาในศาลเท่านั้น กรณีที่ยื่นเป็นข้อแก้ฟ้อง คำเบิกความของพยานในชั้นศาล หรือให้การต่อเจ้าพนักงานในชั้นสอบสวน ไม่ได้อยู่ในตามความหมายของคำว่าคำให้การตามมาตรา 1 (4)
 3. ในชั้นอุทธรณ์และฎีกานั้น ถ้ามีคำอุทธรณ์หรือคำแก้ฎีกา คำแก้อุทธรณ์และฎีกาก็ต้องถือ
เสมอหนึ่งว่าเป็นคำให้การเหมือนกัน
 4. คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ ก็ถือเป็นคำให้การเหมือนกัน

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 1012-13/2505(ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่าคำให้การเพิ่มเติมนั้นเป็นคำคู่ความ เมื่อศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เพิ่มเติม ถือเป็นการไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 18 อุทธรณ์ฎีกาได้ทันทีโดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อน (เพราะมิให้ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 227 )
 ฎ.22/2506 คำแถลงของจำเลยที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ไม่ใช่คำให้การของจำเลย
 5. คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ ก็ถือเป็นคำให้การเหมือนกัน ส่วนข้ออ้างในคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การนั้น จะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 6. คำเบิกความของจำเลยที่มีสิทธิที่จะอ้างตนเองเป็นพยานตาม มาตรา 199 นั้น เป็นเพียงคำเบิกความของพยานในฐานะที่อ้างตนเองเป็นพยานเท่านั้น ถึงแม้จะเบิกความในลักษณะที่เป็นข้อต่อสู้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความนั้นไม่ถือว่าเป็นคำให้การที่เป็นประเด็นข้อต่อสู้ตาม ป.ว.พ นี้
 7. กรณีในคดีที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยคำฟ้อง แต่เป็นคดีที่เริ่มต้นด้วยคำร้องขอ ถ้ามีการร้องคัดค้านคำร้องขอนั้นเข้ามา อาจารย์อุดม เฟื่องฟุ้ง มีความเห็นว่าน่าจะเป็นคำให้การ แต่ถึงแม้จะเป็นหรือไม่ก็ตาม คำร้องขอคัดค้านนั้นก็ต้องถือว่าเป็นคำคู่ความตาม มาตรา1(5) เพราะเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ
 8. กรณีที่เราต้องพิจารณาว่าเป็นคำให้การหรือไม่นั้น มีความสำคัญต่อการถอนฟ้อง คือ เรื่องการถอนฟ้องนั้น ไม่ว่าจะเป็นการถอนฟ้องในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ หรือฎีกามีหลักเกณฑ์กำหนดว่า ถ้าหากมีการยื่นคำให้การแล้ว การถอนฟ้องนั้นศาลจะสั่งอนุญาตไม่ได้ เว้นแต่จะสอบถามอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน ถ้าไม่มีการยื่นคำให้การก็สั่งอนุญาตได้เลย
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


5. “ คำคู่ความ ” ตามมาตรา 1(5) หมายความว่า บรรดาคำฟ้อง คำให้การ หรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาล เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ

ข้อสังเกต
 1. คำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การไม่ใช่คำคู่ความ และไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การ (ฎ.813/28)
 2. คำร้องต้องเป็นกรณีเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ ส่วนคำฟ้องหรือคำให้การนั้น จะตั้งประเด็นหรือไม่ตั้งประเด็น ก็ต้องถือเป็นคำคู่ความ
 3. ต้องเข้าใจว่า ถ้าเป็นคำฟ้องหรือคำให้การแล้ว ถือเป็นคำคู่ความ ซึ่งจะตั้งประเด็นหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่ใช่คำฟ้องหรือคำให้การแล้ว ต้องดูว่าสิ่งนั้นเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความหรือไม่ ถ้าเป็นก็ถือเป็นคำคู่ความ
 4. การที่จะต้องวินิจฉัยหรือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นคำคู่ความหรือไม่นั้น เพราะคำคู่ความนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสิทธิของคู่ความในการอุทธรณ์ฎีกา ตามมาตรา 18 , 226 - 228
 5. คำคู่ความนี้มีความเกี่ยวข้องกับ มาตรา 18 และเรื่องหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ฎีกาบ่อยมาก ดังนั้นควรศึกษาเรื่องดังกล่าวควบคู่กันไป

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 1226/2510 คำขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 เป็นคำคู่ความ เพราะคำร้องสอดเป็นคำฟ้อง
 ฎ. 5496/2533 เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์โดยให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้ก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มโดยให้คำนวณทุนทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายในกำหนด๒๐ วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ และจำหน่ายคดีของผู้ร้อง คำสั่งดังกล่าวหาใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ วรรคสุดท้าย เนื่องจากมิใช่คำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๑) ผู้ร้องต้องทำคำคัดค้านโต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๒) เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ต้องเสียเพิ่มมาชำระภายในเวลาที่ศาลกำหนด ถือว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้ เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๗๔ (๒)
 ฎ. 9117/2538 ศาลสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับคำให้การของจำเลย เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๘ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ทันที ตามป.วิ.พ.มาตรา ๒๒๘ (๓)
ในระหว่างที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำให้การ ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป และศาลอุทธรณ์มิได้สั่งให้ศาลชั้นต้นงดการพิจารณาคดีไว้ก่อน ตาม ป.วิ.พ. ๒๒๘ วรรคสอง จนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเสร็จเด็ดขาดถึงที่สุดแล้ว การที่จะให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำให้การใหม่ ไม่ว่าผลการไต่สวนจะเป็นประการใดย่อมไม่อาจจะทำให้ผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วเปลี่ยนแปลงไปได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี

☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺



6. “คำแถลงการณ์” ตามมาตรา 1(6) หมายความว่า คำแถลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ซึ่งคู่ความฝ่าย
หนึ่งกระทำหรือยื่นต่อศาลด้วยมุ่งหมายที่จะเสนอความเห็นต่อศาล ในข้อความในประเด็นที่ได้ยกขึ้นอ้างในคำคู่ความ หรือในปัญหาข้อใดที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งในข้อเหล่านี้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่แสดง หรือกล่าวทบทวน หรือยืนยัน หรืออธิบายข้อความแห่งคำพยานหลักฐาน และปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวง คำแถลงการณ์อาจรวมอยู่ในคำคู่ความ

ข้อสังเกต
 1. คำแถลงการณ์แยกออกเป็นลักษณะได้ดังนี้
1. เป็นเรื่องที่คู่ความกระทำต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น
2. คำแถลงการณ์นั้นไม่มีผลเป็นการตั้งประเด็นเข้ามาใหม่
3. คำแถลงการณ์เป็นหนังสือนั้นจะยื่นต่างหากหรือยื่นรวมมาในคำคู่ความก็ได้
 2. ผู้มีสิทธิทำคำแถลงการณ์ จะต้องเป็นคู่ความในประเด็นที่พิพาทนั้น
 3. คำแก้อุทธรณ์ที่ศาลไม่รับฟัง เพราะยื่นเมื่อเกินกำหนด อาจยื่นเป็นคำแถลงการณ์ได้ (ฎ.3260/28)
 4. ในทางปฏิบัตินั้น ถ้าหากว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือแล้ว ฝ่ายที่ยื่นต้องส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยศาลต้องเป็นผู้สั่ง
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


7. “ กระบวนพิจารณา ” ตามมาตรา 1(7) หมายความว่า การกระทำใดๆตามที่บัญญัติไว้ในประมวล
กฎหมายนี้ อันเกี่ยวกับคดี ซึ่งกระทำโดยคู่ความในคดีนั้น หรือโดยศาล หรือโดยคำสั่งศาล ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาล หรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลกระทำต่อคู่ความฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้


ข้อสังเกต
 1. สรุป เริ่มต้นตั้งแต่ยื่นฟ้องจนถึงการบังคับคดีเลย
 2. ความหมายของกระบวนพิจารณานั้นสำคัญตรงที่ ถ้าการกระทำนั้นเป็นกระบวนพิจารณาแล้ว จะต้องทำการใดๆในกระบวนพิจารณานั้นให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ใน ป.ว.พ. ที่เรื่องนั้นๆได้บัญญัติไว้ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ต้องถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อาจถูกเพิกถอนได้ตามมาตรา 27

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 967/2594 การยื่นฟ้องอุทธรณ์นั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผู้อุทธรณ์จะต้องดำเนินต่อศาลอย่างหนึ่งตามความหมายของ ป.ว.พ.มาตรา 1(7) ฉะนั้นจึงนำมาตรา10 มาใช้บังคับได้
 ฎ. 427/2510 ป.ว.พ. มาตรา1(7) กระบวนพิจารณา หมายถึงการฟ้องคดีต่อศาลด้วย เมื่อ มาตรา 62 ให้ทนายโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ ทนายจึงมีอำนาจลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ได้
( ระวังสับสนกับกรณีของคดีอาญา เพราะ คดีอาญาทนายจะลงชื่อในคำฟ้องแทนตัวโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่ จะได้รับมอบอำนาจให้ลงได้เป็นการเฉพาะ )
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


8. “ การพิจารณา ” ตามมาตรา 1(8) หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่ง ก่อน
ศาลนั้นชี้ขาดตัดสินคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ข้อสังเกต
 1. การพิจารณานั้นเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนพิจารณา โดยเริ่มต้นตั้งแต่การยื่นฟ้อง จนถึงเวลาที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือจำหน่ายคดี ไม่ว่าจะเป็นในศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ หรือฎีกา
 2. หากยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือจำหน่ายคดีแล้ว ก็ถือว่าคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น
 3. การวินิจฉัยหรือพิจารณาว่าอะไรคือการพิจารณานั้น มีความสำคัญดังนี้
1) ทำให้ทราบว่าว่าคำสั่งของศาลในขณะนั้นๆ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่
2) ทำให้ทราบว่าเรื่องนั้นๆ อยู่ในอำนาจสั่งการของศาลใด(ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา) เพราะมีหลักอยู่ว่า ถ้าหากว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาแล้ว ศาลได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคดีนั้น ก็ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลนั้น สิทธิและหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ฎีกา ก็ต้องพิจารณากันไปตามหลักเกณฑ์ของการอุทธรณ์หรือฎีกาในแต่ละศาลนั้นเอง
3) ถ้าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด การสั่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ให้เป็นอำนาจของศาลซึ่งคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา กล่าวคือ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด ศาลนั้นก็มีอำนาจสั่งการต่างๆเกี่ยวกับคดีนั้นเอง
 4. คดีที่ศาลทำคำตัดสินแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านให้คู่ความฟัง ถือว่าคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลนั้น (คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 519/2589)
 5. คดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ไม่ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา (ฎ.1748/2511) แต่ถ้าเกิดมีปัญหาโต้แย้งกันในชั้นบังคับคดีแล้ว และมีการเสนอปัญหานั้นกลับมาให้ศาลพิจารณาเรื่องนั้นอีก ก็ต้องถือว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาในส่วนนั้น ในทางปฏิบัติเรียกว่า “ การพิจารณาของสาขาคดี ”
 6. ตราบใดที่ศาลยังมิได้พิพากษาคดี ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา(ฎ.1587/2514ประชุมใหญ่)

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 421/2524 การที่คู่ความขอให้ศาลชั้นต้นรอฟังผลคำพิพากษาในคดีอื่น เพื่ออาศัยเป็นหลักในการตัดสินคดี เป็นการร้องขอให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณา ตามมาตรา 39 ที่ศาลชั้นต้นนั้นต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว มีผลเท่ากับมีคำสั่งเลื่อนการนั่งพิจารณาชั่วคราวั่นเอง คดีจึงยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นอยู่
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


9. “ การนั่งพิจารณา ” ตามมาตรา 1(9) หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดี เช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่างๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา

ข้อสังเกต
 1. การนั่งพิจารณาในห้องทำงานของศาลกรณีบัลลังค์ไม่พอ ก็ถือเป็นการนั่งพิจารณาเหมือนกัน รวมทั้งการเดินเผชิญสืบด้วย
 2. การขอให้มาแก้ไขถ้อยคำผิดพลาด หรือเรียกทนายความมาสอบถามฝ่ายเดียว ไม่ถือเป็นการนั่งพิจารณา
 3. ในกรณีที่มีการขอสืบพยานไว้ก่อนที่ยังไม่มีการฟ้องคดี ก็ถือเป็นการนั่งพิจารณาคดีได้ตามมาตรา 101
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


10. “วันสืบพยาน” ตามมาตรา1(10) หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน
ข้อสังเกต
 1. วันสืบพยานต้องเป็นวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานในคดีนั้นจริงๆ ตามที่นัดหมายไว้ไม่ว่าเป็นการสืบพยานโจทก์หรือจำเลย
 2. วันที่มีการนัดไว้แล้ว แต่มีการเลื่อนไป ก็ไม่ถือว่าวันที่นัดไว้ดังกล่าวเป็นวันสืบพยาน
 3. การวินิจฉัยว่าวันใดเป็นวันสืบพยาน มีความสำคัญเกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยาน การแก้ไขคำฟ้อง คำให้การ และการสั่งขาดนัดพิจารณา
 4. แม้ไม่มีการสืบพยานในศาล แต่ในการเดินเผชิญสืบนอกศาลถ้าเป็นกรณีนัดหมายนัดแรก ก็ต้องถือว่าวันนั้นเป็นวันสืบพยานครั้งแรกตาม มาตรา 1(10) เหมือนกัน ดังนั้น หากคู่กรณีทุกฝ่ายมาร่วมเผชิญสืบกันทุกคนแล้ว นัดต่อมาคู่ความฝ่ายใดไม่ไปศาล ก็จะสั่งว่าเป็นการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรค 2 ไม่ได้ เพราะ การขาดนัดตาม มาตรา 197 วรรค 2 นั้น จะสั่งได้เฉพาะในกรณีที่ไม่มาในวันสืบพยานนัดแรกเท่านั้น
 5. ในกรณีที่มีการสืบพยานนัดแรกนั้นเป็นการส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น ก็ถือเป็นวันสืบพยาน ตาม มาตรา 1(10) เหมือนกัน แต่กรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดในกรณีข้างต้น ศาลที่รับประเด็นจะสั่งว่าเป็นการขาดนัดไม่ได้ (เพราะไม่มีอำนาจ) ศาลที่รับประเด็นนั้นต้องส่งประเด็นกลับคืนศาลเดิม ให้ศาลเดิมนัดสืบพยานครั้งแรกใหม่ และการสืบพยานครั้งแรกนี้ ก็จะถือเป็นการสืบพยานครั้งแรกตาม มาตรา 1(10)

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 2909/2524 เมื่อคดีไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานได้ทำการชี้สองสถาน หรือทำการสืบพยาน โจทก์ย่อมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา
 ฎ. 7360/2529 ในวันนัดชี้สองสถานจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน โดยศาลแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยระบุในหมายว่า “นัดสืบพยานโจทก์” จึงถือว่าจำเลยทราบว่ามีหน้าที่ (คือในรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่าให้นัดสืบพยานจำเลย แต่ไปออกหมายนัดระบุให้สืบพยานโจทก์ก่อน) จึงยังถือไม่ได้ว่าวันที่ศาลนัดจำเลยสืบพยานนั้นเป็นวันสืบพยานครั้งแรกและเมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันดังกล่าว จะถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรค 2 ไม่ได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


11. “ คู่ความ ” ตามมาตรา 1(11) หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์
แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณา ให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำแทนบุคคลนั้นๆตามกฎหมายในฐานะทนายความ

ข้อสังเกต
 1. ผู้ที่จะเป็นคู่ความได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะหมายถึงบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ เช่น คณะบุคคลที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจเป็นคู่ความได้ จึงไม่อาจจะฟ้องหรือถูกฟ้องได้ (ฎ.495/19) แต่อาจเป็นคู้ความได้ในฐานะบุคคลธรรมดาที่กระทำในรูปของคณะบุคคลหรือคณะกรรมการได้
 2. สิทธิของบุคคลบางประเภทอาจจะถูกจำกัดหรืออาจได้รับอภิสิทธิ์ก็ได้ เช่น คณะฑูต
 3. บุคคลที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมหรือว่าเป็นคู่ความในคดี กล่าวคือ เมื่อถูกเรียกเข้ามาก็มีฐานะเป็นคู่ความทันที ส่วนจะเข้ามาหรือยังนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง (ฎ.1737/94)
 4. ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มีฐานะเป็นคู่ความ (ฏ.2947/16(ประชุมใหญ่))
 5. นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ศาลได้ (ฎ.1282/24)
 6. สาขาของนิติบุคคลไม่ได้เป็นนิติบุคคลต่างหากจากสำนักงานใหญ่ เพียงแต่เกี่ยวกันในกรณีที่ถือว่าเป็นภูมิลำเนาหนึ่ง ดังนั้นสาขานั้นต้องมีการจดทะเบียนจึงจะเป็นคู่ความได้

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 474/2523 โจทก์ฟ้องจำเลย แม้ศาลยังไม่ได้เรียกจำเลยมาให้การแก้คดี ก็ถือว่ามีฐานะเป็นจำเลยแล้ว การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์กลับให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา จำเลยมีสิทธิฎีกาได้
 ฎ.5674/2530 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. เพียงแต่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้เพื่อทำการดังกล่าว ไม่ใช่บุคคล จึงยื่นฟ้อง หรือถูกฟ้อง หรือจะมอบอำนาจให้คนอื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนไม่ได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


12. “ บุคคลไร้ความสามารถ ” ตามาตรา 1(12) หมายความว่า บุคคลใดๆ ซึ่งไม่มีความสามารถทางกฎหมาย หรือความสามารถถูกจำกัด โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถ

ข้อสังเกต
 1. ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
1. ผู้เยาว์
2. คนวิกลจริต
3. คนไร้ความสามารถ
4. คนเสมือนไร้ความสามารถ
5. สามีหรือภริยาเกี่ยวด้วยสินสมรส
6. บุคคลล้มละลาย
 1. การเข้ามาเป็นคู่ความของบุคคลเหล่านี้ จะต้องมีผู้ทำการแทน หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ
ตามกฎหมายก่อน หรือบางฐานะอาจจะเป็นได้โดยได้รับอนุญาตจากศาลหรือได้รับอนุญาตจากผู้กำกับดูแล
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


13. “ ผู้แทนโดยชอบธรรม ” ตามมาตรา 1(13) หมายความว่า บุคคลซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิที่จะทำการแทนผู้ไร้ความสามารถ หรือบุคคลที่ต้องให้คำอนุญาตหรือตามยินยอมแก่ผู้ไร้ความสามารถ ในอันที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


14. “ เจ้าพนักงานบังคับคดี ” ตามมาตรา 1(14) หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดี หรือพนักงานอื่นผู้ที่มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิคู่ความในระหว่างพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ข้อสังเกต
 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ 2 ช่วงคือ
1. ช่วงที่ดำเนินการระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
2. ช่วงที่ดำเนินการในการบังคับคดี เพื่อเป็นไปตามคำพิพากษาในกรณีที่คำพิพากษานั้นต้องมีการบังคับคดี เช่น พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ แล้วจำเลยไม่ชำระ จึงจำเป็นต้องบังคับคดี

ตัวอย่างตามแนวฎีกา
 ฎ. 1663/2598 โจทก์ขอให้ศาลสั่งให้ตำรวจท้องที่รักษาข้าวในนาที่โจทก์นำยึดไม่ได้ เพราะตำรวจไม่ใช่เจ้าพนักงานบังคับคดี
 ฎ. 234/2506 เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาล
☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼☼


ลักษณะ 2 ศาล
ประกอบไปด้วยเนื้อหาที่สำคัญในการสอบ 3 หมวด ดังต่อไปนี้
หมวด 1 เขตอำนาจศาล
หมวด 3 อำนาจและหน้าที่ของศาล
หมวด 4 การนั่งพิจารณา
โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
หมวด 1 เขตอำนาจศาล
คำว่า “เขตอำนาจศาล” นั้น นอกจากจะพิจารณาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว จะต้องพิจารณาตามกฎหมายเรื่องพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย
ความแตกต่างระหว่าง คำว่า “เขตอำนาจศาล”ของหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมก็คือ
- กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ หลักที่กำหนดว่าจะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลใด
- กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คือ หลักที่กำหนดอำนาจของแต่ละศาล ในการพิจารณาพิพากษาคดี

เขตอำนาจศาล มีเรื่องที่สำคัญ ในการสอบ ดังนี้คือ
1. การเสนอคำฟ้อง (ตามคำนิยามใน มารตรา1(3)) ตามต่อศาล (มาตรา 2)
2. การกำหนดเขตอำนาจของศาลแพ่ง และกำหนดภูมิลำเนาพิเศษของจำเลย (มาตรา 3)
3. การฟ้องคดีทั่วไปโดยถือหลักภูมิลำเนา และมูลคดี (มาตรา4)
4. การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ (มาตรา 4 ทวิ)
5. การฟ้องคดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร (มาตรา 4 ตรี)
6. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยเฉพาะ (มาตรา 4 จัตวา)
7. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคลโดยเฉพาะ (มาตรา 4 เบญจ)
8. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะต้องจัดการในราชอาณาจักร แต่มูลคดีมิได้เกิดในราชอาณาจักร และ ผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร (มาตรา 4 ฉ)
9. ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นหลายศาล (มาตรา 5
10. การโอนคดี (มาตรา 6 )
11. การฟ้องคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม (มาตรา 7)
12. กรณีที่ไม่สามารถดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจ (มาตรา 10)
โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ

1. การเสนอคำฟ้อง (ตามคำนิยามใน มารตรา1(3)) ต่อศาล (มาตรา 2)
หลักกฎหมาย มาตรา 2 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เสนอคำฟ้องต่อศาลใด เว้นแต่
(๑) เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลแล้ว ปรากฎว่า ศาลนั้มีอำนาจที่จะพิจารณา
พิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และ
(๒) เมื่อได้พิจารณาถึงคำฟ้องแล้ว ปรากฎว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวล
กฎหมายนี้ ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วย ”

ข้อสังเกต
 1. การเสนอคำฟ้อง มีข้อพิจารณา อยู่ 4 ประการคือ
1. สภาพแห่งคำฟ้อง หมายถึง สภาพของคดีหรือลักษณะของคดีที่โจทก์ประสงค์จะบังคับ หรือขอให้รับรองว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ ถ้ามีทุนทรัพย์แล้วทุนทรัพย์ที่เรียกร้องมาเป็นจำนวนเท่าใด
2. ชั้นของศาล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
3. อำนาจศาล จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของอำนาจผู้พิพากษา อำนาจของศาลตามพระธรรมนูญศาล
ยุติธรรม และตามบทบัญญัติการจัดตั้งศาลพิเศษต่างๆ
4. เขตศาล หมายถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ศาลนั้นจะมีอำนาจได้ตามที่กำหนดไว้ในเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่ง
มาตรา 15 ได้บัญญัติไว้เป็นหลักว่า ห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจนอกเขตศาล
เมื่อพิจารณา 4 ข้อนี้แล้วจึงพิจารณาถึงศาลที่จะยื่นฟ้องได้ตาม มาตรา 3 – 4 ฉ เพราะมาตรา 2 นี้เป็นหลักทั่วไป
 2. สภาพแห่งคำฟ้อง มีความสำคัญต่อการเสนอคำฟ้องตรงที่ เป็นการพิจารณาว่าคดีนั้นจะ
1) อยู่ในอำนาจศาลแขวง หรือ ศาลจังหวัด
2) เสนอต่อชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้หรือไม่
 3. การเสนอคดีหรือฟ้องคดีครั้งแรกนั้นจะต้องเริ่มที่ศาลชั้นต้นตามมาตรา 170 ว.1

ตัวอย่างฎีกา
 ฎ.1320/2517 คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารจะฟ้องที่ศาลพลเรือนไม่ได้ หมายความว่า อำนาจของศาลทหารก็เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลทหารหรือวิธีพิจารณาศาลทหาร
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


2. การกำหนดเขตอำนาจของศาลแพ่ง และกำหนดภูมิลำเนาพิเศษของจำเลย (มาตรา 3)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
(๑) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีอำนาจ
(๒) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
(ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มาการเสนอคำ
ฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
(ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักร ไม่ว่าโดยตน
เองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย ”

ข้อสังเกต
 1. จะนำบทบัญญัติในมาตรา 3 นี้ไปใช้กับกรณีอื่นไม่ได้ หรือนำไปใช้ในความหมายของภูมิลำเนาในกรณีอื่นไม่ได้ เพราะมาตรานี้มุ่งเพื่อจะให้การเสนอคำฟ้องสามารถทำได้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น
 2. มาตรา 3 นี้เป็นสิทธิที่เพิ่มเติมสิทธิที่จะฟ้องคดีได้ตามบททั่วไปในมาตรา 4 คือ ถ้ากรณีต้องทั้งมาตรา 3 และ 4 จะใช้มาตรา 3 หรือ 4 ก็ได้

ตัวอย่างฎีกา
 ฎ. 6437/2541 จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักร โดยจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่ง จึงถือได้ว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ในการติดต่อดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งได้
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺



3. การฟ้องคดีทั่วไปโดยถือหลักภูมิลำเนา และมูลคดี (มาตรา 4)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(๑) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
(๒) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ”

ข้อสังเกต
 1. คำว่า “ภูมิลำเนา” มีความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 37-47
 2. ภูมิลำเนาของนิติบุคคล ให้ถือเอาสำนักงาน หรือสำนักงานแห่งใหญ่ซึ่งอยู่ภายในเขตศาลที่จะยื่นฟ้องคดี หรือคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา (ป.ว.พ.มาตรา 68)
 3. ผู้ที่ถูกจำคุก ให้ถือว่าเรือนจำหรือฑัณฑสถานเป็นภูมิลำเนา แต่ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดตาม
ป.ว.พ. มาตรา 146
 4. แจ้งย้ายสำมะโนครัว แต่ไม่ได้ย้ายไปจริง สามารถฟ้องที่ภูมิลำเนาเก่าหรือใหม่ก็ได้ (ฎ.181/2521)
 5. คำว่า “มูลคดี” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้อง หรือเหตุแห่งการฟ้อง เช่น ทำสัญญาที่ไหน ผิดสัญญาที่ไหน ละเมิดที่ไหน เหตุแห่งการฟ้องนี้ บางกรณีอาจจะเกิดขึ้นในแห่งเดียวกัน หรืออาจจะเกิดขึ้นได้หลายสถานที่ต่างกันก็ได้ และแต่ละที่นั้นก็ถือเป็นสถานที่มูลคดีเกิดทั้งสิ้น
 6. สัญญาระหว่างบุคคลที่อยู่ห่างโดยระยะทาง สัญญาเกิดขึ้นเมื่อคำสนองไปถึงผู้เสนอ จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ภูมิลำเนาของผู้เสนอ(ฎ.2586/2523)
 7. สัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือและต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย แต่คู่สัญญาลงลายมือชื่อคนละแห่งกัน ก็ให้ถือว่าสถานที่ทั้งสองแห่งเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิด(ฏ.2586/2540)
 8. ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค ถือว่าสถานที่ที่มูลคดีเกิดได้แก่ สถานที่จ่ายเช็ค, สถานที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน, และสถานที่ที่สัญญาตามมูลหนี้เช็คเกิดขึ้นด้วย (ฎ.3818/2538)
 9. สัญญาที่แยกต่างหากจากกัน เช่น สัญญาค้ำประกัน เพื่อค้ำประกันให้สัญญาเช่าซื้อ หากทำสัญญาต่างสถานที่กัน ถือว่ามูลคดีต่างกันด้วย (ฎ.6933/39)
 10. ระวัง คำว่า “มูลหนี้ ”กับ “มูลคดี” ไม่เหมือนกัน เพราะ มูลคดีมีความหมายกว้างกว่ามูลหนี้
 11. ในกรณีที่เสนอคำฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

ตัวอย่างฎีกา
 ฎ.881/41 จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่เชียงใหม่และกรุงเทพ ขึ้นล่องไปมาเป็นประจำ ถือว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง โจทก์จะถือเอาแห่งใดเป็นภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อยื่นฟ้องก็ได้
 ฎ.2786/2540 ฟ้องคดีละเมิด โดยจำเลยขายรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรส 2 คัน คันแรกขายที่เชียงใหม่ อีก 1 ปีต่อมาขายคันที่ 2 ที่ตาก ดังนั้น กรณีคันที่ 2 จะฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ เพราะสัญญาทำกันคนละปี มูลคดีอันเป็นต้นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิมิใช่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺
4. การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ (ข้อยกเว้นมาตรา 4) (มาตรา 4 ทวิ)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 ทวิ บัญญัติว่า “คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ”

ข้อสังเกต
 1. มาตรานี้หมายถึงคำฟ้องที่มีลักษณะดังนี้
1. คำฟ้องที่โจทก์มุ่งหมายจะบังคับเอากับอสังหาริมทรัพย์ชิ้นใดโดยเฉพาะ ได้แก่ การฟ้องเรียกตามเอกเทศสัญญาต่างๆ เช่น ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก เช่น คำฟ้องบังคับให้โอนที่ดิน เป็นต้น
2. คำฟ้องที่จะต้องพิเคราะห์ถึงความเป็นอยู่ของอสังหาริมทรัพย์ชิ้นใดโดยเฉพาะ
เช่น คำฟ้องที่เจ้าหนี้บังคับจำนองที่ดินที่ลูกหนี้นำมาจำนอง(เฉพาะกรณีที่เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับจำนองแล้ว) เพราะศาลต้องพิจารณาถึงสิทธิบังคับจำนอง และเมื่อศาลพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะ ก็จะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์(ฎ.380/2532) , คำฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกจากที่ดิน(ฎ.1173/2518)
แต่กรณีฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และขอให้ไถ่ถอนจำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เป็นหนี้เหนือบุคคล ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะมิใช่เป็นการฟ้องบังคับจำนองที่เกี่ยวกับตัวที่ดินโดยตรง (ฎ.2245/2526)
 2. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้น ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 กรณีคือ
1. คำฟ้องเกี่ยวกับการขอให้บังคับตามสัญญา คือการให้โอนที่ดินให้ผู้จะซื้อ ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์(ฎ.1115/2523)
2. คำฟ้องเกี่ยวกับการเรียกเงินค่าขายที่ดิน ค่าซื้อที่ดิน เงินมัดจำ ค่าเสียหาย ค่านายหน้า ถือเป็นคำฟ้องที่ไม่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์เพราะไม่ได้บังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดิน(ฎ.1233/2506,2334/2517,2256/2521,955/2537,คสคร.77/2519)
 3. คำ ฟ้องเรียกค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ แม้จะมุ่งบังคับเอาเงินค่าเช่า แต่ค่าเช่าเป็นประโยชน์ คือ ดอกผล อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะเจาะจง (อย่าสับสนกับกรณีสัญญาจะซื้อจะขายข้างต้น) จึงเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
 4. คำฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด(บุกรุกที่ดิน)และห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิในที่ดินของโจทก์ต่อไป แม้ค่าเสียหายฐานละเมิดจะเป็นหนี้เงิน คำฟ้องนี้ก็ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ (ฎ.1173/2518)
 5. ฟ้องเรียกที่ดินคืน ไม่ว่ากรณีใดๆ ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น
 6. ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดเพราะทำให้โจทก์ต้องเสียที่ดิน เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แม้โจทก์มิได้มีคำขอที่จะบังคับแก่ที่พิพาท แต่การพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเคยเป็นของโจทก์หรือไม่ เป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์
 7. หากฟ้องค่าเสียหายฐานละเมิดเพราะบุกรุกที่ดินอย่างเดียว ไม่ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
 8. คำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิยึดหน่วงใบโฉนดที่ดิน ไม่ใช่คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์(ฎ.1428-29/2514)

ตัวอย่างฎีกา
 ฎ. 1783/2527(ประชุมใหญ่) โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียที่ดินของโจทก์ไป จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ ไม่ใช่ของโจทก์ และจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้มิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย และคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอบังคับแก่ที่ดินพิพาท แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
 ฎ. 683/2534 โจทก์ฟ้องเรียกมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนกับเรียกค่าเสียหาย เพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการฟ้องขอให้บังคับตัวจำเลย ซึ่งเป็นหนี้เหนือบุคคล ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับตัวทรัพย์
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


5. การฟ้องคดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร(มาตรา 4 ตรี)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 ตรี บัญญัติว่า “คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้ ”

ข้อสังเกต
 1. มาตรา 4 ตรี นี้ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวด้วยการเสนอคำฟ้อง ที่นอกเหนือจากหลักทั่วไป ตามมาตรา 4 เหมือนมาตรา 4 ทวิ แต่ต่างกับมาตรา 4 ทวิ ตรงที่มาตรา 4 ตรี เป็นคดีที่ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
 2. มาตรานี้เป็นประโยชน์แก่โจทก์มาก เพราะไม่ต้องนำคดีไปฟ้องที่ศาลต่างประเทศ
 3. กรณีที่โจทก์มีสัญชาติไทยแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอีก ก็ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งได้
 4. สรุป ศาลที่จะยื่นฟ้องได้ตามมาตรานี้คือ 1. ศาลแพ่ง 2.ศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ 3. ศาลที่ทรัพย์สินจำเลยตั้งอยู่
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


6. การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยเฉพาะ (มาตรา 4 จัตวา)
หลักกฎหมาย มาตรา 4 จัตวา “ คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ใน
เขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล ”

ข้อสังเกต
 1. มาตรานี้ เป็นการเสนอคำร้อง ที่เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 4(2) กล่าวคือ เป็นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยเฉพาะ
 2. มาตรานี้เป็นประโยชน์แก่เจ้ามรดก ที่มีทายาทและทรัพย์มรดกกระจัดกระจายอยู่หลายเขตอำนาจศาล แต่ได้ถึงแก่ความตายในเขตอำนาจศาลใดศาลหนึ่ง
 3. สรุป ศาลที่จะเสนอคำร้องตามมาตรานี้ได้ มี 2 ศาลคือ
1.ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล ในขณะถึงแก่ความตาย
2. กรณีที่เจ้ามรดกไม่อยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ ได้พียงศาลเดียว

ตัวอย่างฎีกา
 ฎ. 5912/39 แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและถึงแก่ความตาย ที่จังหวัดพิจิตรแต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องถึง 20 ปี ที่ จังหวัดสมุทรปราการและได้ซื้อที่ดินที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย แสดงว่าผู้ตายมีบ้านอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็น แหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็น ภูมิลำเนาของผู้ตาย ผู้ร้องมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ของผู้ตายต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


7. มาตรา 4 เบญจ การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคลโดยเฉพาะ
หลักกฎหมาย มาตรา 4 เบญจ “คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล ”

ข้อสังเกต
 1. สาเหตุที่มีมาตรานี้คือ เนื่องจากคำร้องขอเหล่านี้อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อบุคคลหลายฝ่าย ถ้ามีผู้ร้องหลายคนก็อาจเสนอคำร้องต่อศาลได้หลายศาล
 2. มาตรานี้ เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 4 (2)
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺




8. มาตรา 4 ฉ การฟ้องคดีที่เป็นคำร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะต้องจัดการในราชอาณาจักร
แต่มูลคดีมิได้เกิดในราชอาณาจักร และ ผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
หลักกฎหมาย มาตรา 4 ฉ “คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิกจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี ซึ่งมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในเขตศาล ”

ข้อสังเกต
 มาตรานี้เป็นมาตราที่อำนวยความสะดวกแก่กรณีที่มูลคดีมิได้เกิดในราชอาณาจักร และ ผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร (เป็นทางออกของมาตรา 4(2))
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺




9. มาตรา 5 ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นหลายศาล
หลักกฎหมาย มาตรา 5 “คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอ ต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

ข้อสังเกต
 1. “มูลความแห่งคดี” คือ มูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีเกี่ยวข้องกันเท่านั้น ไม่ต้องถึงขนาด ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้
 2. กรณีจำเลยหลายคนมีภูมิลำเนาต่างกัน โจทก์ฟ้องจำเลยทุกคนต่อศาลที่จำเลยคนหนึ่งคนใดมีภูมิลำเนาแล้ว แม้ต่อมาโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น ศาลก็ยังพิจารณาคดีจำเลยอื่นในเขตอำนาจศาลนั้นต่อไปได้ (ฎ.2403/2523)
ตัวอย่างฎีกา
 ฎ. 2586/40 สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ลง ลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้ว แต่ยังไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่าย ผู้ให้เช่าซื้อสัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ เมื่อมีการส่งสัญญาดังกล่าวไปให้ผู้มี อำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ของ โจทก์เพื่อให้สัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ ย่อมถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่ ทำสัญญาฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานใหญ่ของ โจทก์ตั้งอยู่ในท้องที่เขตปทุมวันซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดในมูลความแห่งคดี เกี่ยวข้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ( 1 ) และมาตรา 5
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


10. มาตรา 6 การโอนคดี
หลักกฎหมาย มาตรา 6 “ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ขอให้โอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ คำร้องนั้นจำเลยต้องแสดงเหตุที่ยกขึ้นอ้างอิงว่าการพิจารณาคดีต่อไปในศาลนั้นจะไม่สะดวก หรือจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้
ห้ามมิให้ศาลออกคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ศาลที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอม ก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด”

ข้อสังเกต
 1. มาตรานี้เป็นสิทธิของจำเลย
 2. ศาลที่ขอโอนไปต้องเป็นศาลที่มีเขตอำนาจด้วย
 3. จำเลยต้องขอก่อนยื่นคำให้การ
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


11. มาตรา 7 การฟ้องคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม
หลักกฎหมาย มาตรา 7 “บทบัญญัติในมาตรา ๔ มาตรา ๔ ทวิ มาตรา ๔ ตรี มาตรา ๔ จัตวา มาตรา ๔ เบญจ มาตรา ๔ ฉ มาตรา ๕ และมาตรา ๖ ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ดังต่อไปนี้
(๑) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(๒) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ซึ่งคำฟ้อง
หรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา ๓๐๒
(๓) คำร้องตามมาตรา ๑๐๑ ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้ว ให้เสนอต่อศาลนั้น ในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้องตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(๔) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาต หรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่งการอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น”

ข้อสังเกต
 1. การฟ้องคดีตามมาตรานี้ ไม่ใช่เป็นการเริ่มคดีใหม่ แต่เป็นการเริ่มคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม
 2. มาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อไม่ให้คดีเกิดความสับสน เพราะหากเกิดคำฟ้องใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม แต่ไม่ฟ้องที่ศาลเดิม ศาลที่รับคดีใหม่ไว้จะไม่รู้เรื่องราวของคดีเดิมว่ามีความเป็นมาอย่างไร
 3. ข้อสังเกตมาตรา 7 นี้แยกได้ดังนี้
1) กรณีอนุมาตรา (1)
- “เกี่ยวเนื่อง” หมายความว่า เกี่ยวเนื่องเป็นคดีเดี่ยวกัน หรือเป็นเรื่องติดต่อกัน
- ตัวอย่างได้แก่ คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง คำร้องสอด คำฟ้องแย้ง ฯลฯ เป็นต้น
- กรณีฟ้องแย้ง นั้นต้องพิจารณาถึงอำนาจศาลตามหลักกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย หากคดีที่ฟ้องแย้งเกินอำนาจศาลเดิมแล้ว ก็ฟ้องแย้งในคดีที่ศาลเดิมไม่ได้ ต้องฟ้องแบบเริ่มคดีใหม่
2) กรณีอนุมาตรา (2)
- ตัวอย่างได้แก่ การร้องขัดทรัพย์ การขอเฉลี่ยทรัพย์ การร้องขอกันส่วน ฯลฯ เป็นต้น
- ในทางปฏิบัติเรียกว่า “ สาขาคดี ” ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในชั้นบังคับคดี
- การพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์ ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องเดิมที่ฟ้องจำเลย แม้คดีร้องขัด
ทรัพย์ จะมีทุนทรัพย์เกินอำนาจศาล ก็มีอำนาจที่จะพิจารณาและมีคำสั่งได้ (ฎ.901/2511) ซึ่ง
แตกต่างกับการฟ้องแย้งตามอนุ (1)
- การยื่นคำร้องเหล่านี้ จะยื่นที่ศาลที่พิพากษาคดีหรือศาลที่บังคับคดีแทนก็ได้ (มาตรา 302)
- อย่าสับสนกับกรณีขอให้เพิกถอนการบังคับคดีหรืองดการบังคับคดี เพราะกรณีนี้ต้องร้องที่
ศาล ที่ออกหมายบังคับคดีเท่านั้น (ตามหลักเรื่องการของดบังคับคดี)

ตัวอย่างฎีกา กรณีอนุมาตรา (2)
 ฎ. 6111/40 คำฟ้องของโจทก์กล่าวถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และผิดสัญญาในการออกค่าธรรมเนียม เมื่อพิจารณาสัญญาที่ทำต่อกันแล้วเห็นได้ ชัดเจนว่า การที่จำเลยสัญญาว่าจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิการเช่าตึก 7 ชั้น คืนให้แก่โจทก์นั้น มิได้แยกต่างหากจากสัญญาประนีประนอมยอมความหรือก่อให้เกิดหนี้โดยปราศจากเงื่อน ไขใด ๆ หากแต่เป็นการยอมรับภาระในหนี้ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่า โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องผ่อนชำระหนี้ให้ครบจำนวนหนี้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีจึงจำเป็นต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วย ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วหรือไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงนับได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และคำฟ้องนี้จำต้องให้ศาลวินิจฉัยเสียก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง ดังนั้น คำฟ้องคดีนี้จึงต้องเสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี หรือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7(2) และ มาตรา 302 วรรคหนึ่ง
3) กรณีตามอนุมาตรา (4)
- ตัวอย่าง ได้แก่ คำร้องขอถอดถอนผู้จัดการมรดก ถอดถอนผู้อนุบาล ขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ เป็นต้น
- ในทางปฏิบัติ ต้องดำเนินการตรวจสอบเลขคดีของคดีเดิมก่อน แล้วจึงเลขดังกล่าวระบุในคำร้องนั้นด้วย

ตัวอย่างฎีกา กรณี (4)
 ฎ.811/2538 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันกับศาลที่มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนไร้ความสามารถ และอยู่ในความอนุบาลของผู้คัดค้าน ทั้งได้อ้างในคำร้องซึ่งเป็นรายละเอียดในคดีดังกล่าวแนบคำร้องและคำสั่งศาลมาพร้อม และมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แม้จะมีการลงเลขคดีดำใหม่ในคำร้องขอ ก็เป็นเพียงทางปฏิบัติทางธุรการของศาล ถือว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7(4)แล้ว
☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺☺


12. มาตรา 10 กรณีที่ไม่สามารถดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจ

หลักกฎหมาย มาตรา 10 “ ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย คู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้นจะยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้ และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ”
ข้อสังเกต
 1. คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ในที่นี้มีความหมายกว้างกว่าเหตุสุดวิสัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 8 กล่าวคือ มีความหมายว่า เหตุอะไรก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจ แม้ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ ก็นับว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (ฎ.695/2509)
 2. กระบวนพิจารณาต่างๆในศาลอุทธรณ์และฎีกา สามารถนำมาตรานี้มาใช้บังคับได้โดยอนุโลม เช่น การยื่นอุทธรณ์ เป็นต้น (ฎ.967/2494)
 3. มาตรา 10 และ มาตรา 23 เป็นกรณีที่ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทันเหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างกันคือ
• มาตรา 10 เป็นกรณีที่ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทัน จึงขอดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้น ส่วน มาตรา 23 เป็นกรณีที่ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทันเหมือนกัน แต่เป็นเฉพาะกรณีขอย่นหรือขยายระยะเวลาตามที่กำหนดใน ป.ว.พ.เท่านั้น
• มาตรา 10 คู่ความเท่านั้นเป็นผู้ดำเนินการ ส่วน มาตรา 23 ศาลอาจเห็นสมควรเอง หรือ คู่ความเป็นผู้ร้องขอ ก็ได้
• มาตรา10 ร้องขอที่ศาลอื่น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นได้ ส่วน มาตรา 23 ต้องร้องขอในศาลเดิมเท่านั้น
เช่น กรณีจำเลยการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดตาก ซึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทนศาลจังหวัดน่าน ปรากฏว่าศาลจังหวัดตากมีคำสั่งยกคำร้องนั้น จำเลยจึงอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดตาก แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยจึงขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาโดยยื่นที่ศาลจังหวัดน่าน แต่การขอนี้เป็นการขอขยายระยะเวลาตามมาตรา 23 ไม่ใช่กรณีไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทันตามมาตรา 10 ดังนั้น จำเลยจะต้องยื่นที่ศาลจังหวัดตากตามมาตรา 229,247 แต่กรณีนี้จำเลยได้ยื่นต่อศาลจังหวัดน่านจึงไม่ชอบตามมาตรา 23 ทั้งปรากฎว่าจำเลยมิได้ระบุเหตุขัดข้องแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้ทัน ตามมาตรา 10 ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาต่อศาลจังหวัดอุดรธานี
 4. การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่รับคำร้องนั้น มีอำนาจเพียงดำเนินการให้เป็นไปตามความยุติธรรม ไม่มีอำนาจเกินศาลเดิม เช่น หากคู่ความยื่นคำร้องหรือคำคู่ความใดมา ศาลที่จะสั่งคำร้องหรือคำคู่ความนั้นต้องเป็นศาลเดิมเท่านั้น ศาลที่รับคำร้องตามมาตรา 10 จะสั่งไม่ได้
 5. ผลของการยื่นคำร้องตามมาตรา 10 คือ เมื่อศาลนั้นมีคำสั่งรับดำเนินการอย่างใดให้แล้ว มีผลเท่ากับคู่ความได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลที่มีเขตอำนาจทุกประการ

ตัวอย่างฎีกา
 ฎ.1644/2519 (ประชุมใหญ่) วันนัดสืบพยานโจทก์ อันเป็นนัดแรก ทนายโจทก์ป่วยอยู่ที่จังหวัดอื่น และแพทย์ให้ความเห็นว่าสมควรพักรักษาตัวจริง ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนต่อศาลชั้นต้นที่ทนายโจทก์ป่วยอยู่เมื่อเวลา 10.00 น. ซึ่งยื่นหลังจากเวลา 9.00 น.ที่นัดไว้ และศาลเดิมรออยู่จน 10.05 น. จึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดี ดังนี้ จะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณามิได้ เพราะกรณีดังกล่าว ถือว่าโจทก์ได้ขอเลื่อนคดีก่อนลงมือสืบพยานแล้ว (ตามมาตรา 10)


%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

7 ความคิดเห็น:

  1. อยากได้ลักษณะที่ 5 ครับ
    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากๆค่ะ
    ว่างๆขอลักษณะ3ด้วยนะคะ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณนะคะ สรุปย่อของท่าน มีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ มากๆ ค่ะ ดิฉันสอบผ่านก็เพราะคุณมีส่วนร่วมในความสำเร็จนะคะ

    ตอบลบ
  4. กราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ ที่ได้ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายและผู้สนใจและนักศึกษาค่ะ ขอให้อาจารย์นำสรุปบทต่อๆไปมาลงเพิ่มอีกค่ะ จะเข้ามาติดตามต่อเนื่องค่ะ และอนุโมทนาบุญกับอาจารย์ด้วยค่ะ ในการให้ความรู้เป็นวิ่ทยาทาน สาธุๆๆ

    ตอบลบ